web analytics

ติดต่อเรา

โคเวสโตร สร้างครูต้นแบบ สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาเรื่องขยะทางทะเล เนื่องจากปัจจุบันปัญหาขยะทางทะเลของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 5 ของประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก  อย่างไรก็ตามคนส่วนมากมักคิดว่าขยะทางทะเลเกิดจากชาวประมงหรือคนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งทะเล แต่ทางกลับกันขยะในทะเล 80% มาจากขยะบนบก ส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก ขวดน้ำและเศษอาหาร มีเพียง 20% ที่มาจากกิจกรรมทางทะเล

ดังนั้นบริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด ได้นำแนวคิดดี ๆ เพื่อถ่ายทอดปัญหาและการกำจัดขยะทางทะเลที่สนุกและเข้าใจได้ง่ายมาจัดทำเป็นรูปเล่มหนังสือสำหรับเด็ก “จุดประกายความคิด เพื่อชีวิตที่สดใส” และเพื่อต่อยอดจากการจัดทำหนังสือดังกล่าว บริษัทจึงได้จัดทำโครงการ “โคเวสโตร สร้างครูต้นแบบ สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม” เพื่อสร้างครูเป็นต้นแบบในการปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชนไทยและบูรณาการการเรียนการสอนเรื่องสิ่งแวดล้อมไปกับหลักสูตรในห้องเรียน

ดร.แดเนียล คอช กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “โครงการ “โคเวสโตร สร้างครูต้นแบบ สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม” จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาชาติและต่อยอดโครงการหนังสือสำหรับเด็ก “จุดประกายความคิด เพื่อชีวิตที่สดใส” โดยมุ่งหวังให้เกิดการตระหนักถึงปัญหาการจัดการขยะและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม โดยโครงการได้นำร่องด้วยการจัดอบรมและพัฒนาศักยภาพด้านการสอนให้แก่ครู เพื่อสร้างเครือข่ายครูต้นแบบที่สามารถถ่ายทอด ปลูกฝัง และสร้างจิตสำนึกเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างถูกวิธีและเป็นระบบไปยังนักเรียนในโรงเรียนของตนได้ นอกจากนี้ยังผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมจากชุมชนและนำบทเรียนมาสู่การกระทำมากขึ้น ทั้งนี้บริษัทได้เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการส่งแนวคิดโครงการการจัดทำหลักสูตรการรักษาสิ่งแวดล้อมเข้ามาเพื่อร่วมประกวด โดยโรงเรียนที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับเงินสนับสนุนจากโคเวสโตรในการจัดทำโครงการ”

ครูยุธทนา ศรีสงคราม โรงเรียนวัดตากวน จังหวัดระยอง โรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ “โคเวสโตร สร้างครูต้นแบบ สร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม” กล่าวว่า เราได้จัดทำโครงการที่ชื่อว่า “ฮีโร่จิ๋วผู้พิทักษ์หาดทรายทอง” โดยใช้องค์ความรู้ในการนำเสนอผ่านการจัดการเรียนรู้แบบ PBL (Problem Based Learning) ซึ่งเป็นการเรียนรู้แบบบูรณาการโดยใช้ปัญหาเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ เริ่มต้นด้วยการนำเอาปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัว หรือในชีวิตประจำวันมาเป็นโจทย์ จากนั้นก็ออกแบบกิจกรรมที่จะนำไปสู่วิธีการแก้ปัญหา ซึ่งการออกแบบกิจกรรมนี้เกิดขึ้นจากนักเรียนเองทั้งหมด ครูไม่ได้เป็นผู้สอน ครูเป็นเพียงแค่โค้ชที่คอยสร้างแรงกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความคิด และนำไปลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการเรียนการสอนแบบเดิมตรงที่ว่า ครูจะเป็นคนกำหนดกรอบให้ว่านักเรียนจะต้องทำแค่ไหน แต่การนำองค์ความรู้เรื่องนี้มาปรับใช้นักเรียนจะสามารถกำหนดกรอบได้เอง โดยไม่มีข้อจำกัด ทำให้นักเรียนมีมุมมองที่กว้างขึ้น การที่นักเรียนเลือกที่จะทำเรื่องการอนุรักษ์หาดทรายทอง เพราะว่านักเรียนส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่ชุมชนในบริเวณนี้ พวกเขาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลทรัพยากรธรรมชาติด้วยการใช้อย่างมีคุณค่า เกิดประโยชน์ และยั่งยืนมากที่สุด จากรุ่นสู่รุ่นต่อไป ดังนั้น โครงการของโคเวสโตร จึงถือว่าเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยส่งเสริมให้นักเรียนเห็นคุณค่า เห็นความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

ด.ญ.วรรณิษา ชัยประสิทธิ์ ชั้นป.6/1 ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียวัดตากวน จังหวัดระยอง ได้เล่าถึงการมีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ “ฮีโร่ตัวจิ๋วผู้พิทักษ์หาดทรายทอง” ว่า พวกเราทุกคนได้ช่วยกันคิดและเลือกที่จะทำคลิปสารคดี จากการสัมภาษณ์คนในชุมชน และนำมาตัดต่อทำเป็นคลิปเพื่อเผยแพร่ภายในชุมชน และผ่านทางสื่อออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นและช่วยกันอนุรักษ์หาดทรายทอง นอกจากนั้นยังได้ประยุกต์นำเอาฮีโร่จากเกม ROV ซึ่งเป็นเกมออนไลน์ที่เด็กๆ ชื่นชอบมาใช้เป็นตัวแทน และเป็นสื่อการประชาสัมพันธ์ด้วยการแสดงเป็นละคร สร้างความสัมพันธ์กับชาวบ้านและคนในชุมชน การให้แต่ละคนเป็นฮีโร่ที่ชื่นชอบ เพื่อให้พวกเขาเป็นคนที่นำสารเหล่านี้ไปสู่ชุมชนเพื่อให้ทุกคนเกิดความสนใจและอยากที่จะเรียนรู้มากขึ้น รวมทั้งยังได้จัดทำแผนผังลำดับเหตุการณ์ (Timeline) ของหาดทรายทอง เพื่อให้ทุกคนเห็นความแตกต่างของหาดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พวกเราอยากที่จะให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญของหาดทรายทอง เพราะเมื่อสภาพแวดล้อมดีขึ้นก็จะมีสิ่งมีชีวิต และสัตว์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ทุกคนก็จะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น หาดทรายทองก็มีความสวยงามและสะอาดมากขึ้นด้วย

ครูทิวา ทับศรีรักษ์ โรงเรียนวัดมาบชลูด จังหวัดระยอง โรงเรียนที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการฯ กล่าวว่า เราได้จัดทำโครงการที่มีชื่อว่า “โครงการขยะสังคม” โดยใช้การเล่นคำ ซึ่งหมายถึง ขยะในสังคมที่คนสร้างขึ้น โดยตัวโครงการมาจากหัวใจหลักจากการเรียนรู้ 4 แผนที่จะสอนในระดับชั้นป.5 เกี่ยวกับปัญหาขยะ สถานการณ์ ที่มา และการแก้ปัญหาขยะ หลังจากนั้นได้ให้นักเรียนระดับชั้นนี้เป็นนักเรียนแกนนำของโรงเรียนเชิญชวนน้อง ๆ และพี่ ๆ ในโรงเรียนทำกิจกรรม โดยกิจกรรมหลักคือ การทำประชาสัมพันธ์รณรงค์เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ เพราะว่าในโรงเรียนของเรามีกิจกรรมธนาคารขยะ ซึ่งเด็กๆ แต่ละคนจะนำขยะมาขายที่โรงเรียน แต่ก่อนที่จะขายก็จะให้ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะตามประเภทต่าง ๆ นอกเหนือจากระดับชั้นป.5 เรายังได้ขยายผลการเรียนการสอนไปยังระดับชั้นต่าง ๆ โดยให้คุณครูวิชาวิทยาศาสตร์วประจำระดับชั้นนั้น ๆ นำไปบูรณาการร่วมกับวิชาอื่น ๆ เช่น วิชาสังคมศึกษาก็จะเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อม ลักษณะทางกายภาพของแต่ละที่เป็นอย่างไร จากต้นน้ำปลายน้ำเป็นอย่างไร บริเวณชายฝั่งทะเลปัญหาเป็นอย่างไร โดยจะให้โจทย์กับนักเรียนและก็ให้นักเรียนได้ร่วมช่วยกันคิดวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาคืออะไร ผลเป็นอย่างไร และเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่ละระดับชั้นก็จะมีกิจกรรมที่จะช่วยลดปริมาณขยะภายในบริเวณโรงเรียน โดยยึดหลัก 5R คือ Reduce Reuse Recycle Repair Reject

นอกจากนี้ยังได้ให้นักเรียนประดิษฐ์สิ่งของจากขยะที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง โดยให้นักเรียนได้คิดและนำเสนอแก่คุณครู ซึ่งเป็นผู้นำและคอยให้คำแนะนำในการทำกิจกรรมต่าง ๆ สิ่งที่เด็กได้รับประโยชน์จากโครงการนี้คือ ทำให้เด็กรู้ว่า ตัวเองคือคนที่สร้างขยะขึ้นมาเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าในสังคมทุกวันนี้ขยะที่เกิดขึ้นเกิดจากสิ่งที่คอยอำนวยความสะดวกให้แก่มนุษย์ เราสอนให้เด็กรู้ว่าขยะที่ได้มาถ้ารวมกันมากขึ้นแล้วจะเกิดอะไร การกำจัดขยะให้ถูกวิธีควรจะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับส่วนรวม สิ่งไหนที่พอจะกลับนำมาใช้ซ้ำได้ก็ให้เอามาใช้ ของบางสิ่งก็สามารถที่จะนำไปขายได้ อันไหนสามารถนำมาประดิษฐ์ทำเป็นสิ่งของได้ก็ให้นำมาลองใช้ทำ กิจกรรมเหล่านี้ทำให้เด็กได้รู้จักคิด ลงมือปฏิบัติและนำไปต่อยอดในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

ครูบุษบา ธนาภรณ์ ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 จังหวัดระยอง โรงเรียนที่ได้รับรางวัลรองอันดับ 2 จากโครงการฯ กล่าวว่า โรงเรียนได้จัดทำโครงการที่มีชื่อว่า “โครงการวัยใส น้ำใจน่ารัก…สู่พืชผักใบเขียว” ซึ่งเกิดขึ้นจากการที่นักเรียนได้ทำ แผนที่เดินดิน ซึ่งเป็นแผนที่ชุมชนเพื่อวิเคราะห์ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหนึ่งในกระบวนการของโรงเรียน Eco-School โดยเราได้นำมาต่อยอดจากการที่ตัวแทนครูได้เข้าร่วมอบรมโครงการจากโคเวสโตร ซึ่งเด็กๆ ได้ช่วยกันคิดและลงมือทำ โดยเด็ก ๆ จะมาขอคำปรึกษากับคุณครูเพื่อทำโครงการว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งปัญหาที่พบคือ การใช้น้ำอย่างไม่มีคุณค่า ปัญหาเศษขยะเศษอาหาร เริ่มแรกก็มาหาต้นตอของการใช้น้ำที่ไม่คุ้มค่ามาจากไหน ก็พบว่ามาจากน้ำที่ใช้ในการล้างมือ จึงได้มีการต่อท่อน้ำและทำถังพักน้ำไว้เพื่อนำน้ำเหล่านี้ไปใช้ในเรือนเกษตรเพาะชำ ผ่านการดัดแปลงจักรยานที่เป็นตัวกระจายและส่งน้ำ โดยให้นักเรียนช่วยกันปั่นจักรยานเพื่อเอาน้ำจากบ่อพักไปรดน้ำในเรือนเพาะชำ

ในเรือนเพาะชำ เราก็นำขวดที่ไม่ใช้แล้วมาสร้างเป็นอุโมงค์เพื่อกันแสงอาทิตย์ พืชผักที่ปลูกก็จะเป็นผักสวนครัว โดยได้นำพืชผักเหล่านี้ไปใช้ในโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ส่วนที่เหลือก็เอากลับไปรับประทานที่บ้าน ซึ่งเราได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีจากหลายส่วนที่ลงทุนลงแรงช่วยทำท่อ บ่อพักน้ำ และเรือนเพาะชำ ส่วนเศษขยะ เศษอาหาร เราก็นำมาทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ ดังนั้นผักที่เราปลูกก็จะเป็นผักที่ปลอดสารพิษ นอกจากนี้เรามีการต่อยอดจากโครงการด้วยการทำ QR Code ซึ่งผักทุกชนิดที่ปลูกจะมี QR Code ให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมได้ไปสืบค้นต่อ ซึ่งเด็กๆ เป็นคนคิดวิธีขึ้นมาเอง เป็นคนลงมือทำเอง แต่คุณครูเป็นผู้สอนและให้คำแนะนำในการทำ โดยสิ่งที่เราให้เป็นแนวทางในการทำโครงการ คือ แนวคิดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ดังนั้นทุกอย่างที่ทำจะต้องคุ้มค่า ซึ่งประโยชน์ที่เด็กได้รับจากโครงการนี้ คือ ทำให้เด็ก ๆ ได้คิดและลงมือปฏิบัติจริง อย่างโครงการของเราเน้นเรื่องน้ำใจเป็นหลัก อยากให้เด็ก ๆ ได้มีมิตรภาพที่ดีร่วมกัน ซึ่งอัตลักษณ์ของโรงเรียนคือ ลูกโขดหินเป็นเด็กดีมีมิตรภาพ

การจัดการสิ่งแวดล้อมนับเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ทุกคนควรจะหันมาให้ความสนใจและหาแนวทางในการจัดการอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ดังนั้นการมีเครือข่ายครูจะช่วยให้ครูพัฒนาศักยภาพและถ่ายทอดความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังสร้างแรงกระตุ้น ความคิดริเริ่ม การมีส่วนร่วม บูรณาการ และส่งเสริมให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง เพราะในอนาคตเยาวชนเหล่านี้จะกลายเป็นผู้มีบทบาทและเป็นกำลังของชาติที่จะช่วยบอกต่อและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *