web analytics

ติดต่อเรา

สมาคมนำเข้าฯ ดันลดภาษีนำเข้ารถหรู หวังปรับลดราคาสู้ศึกตลาดหรูแข่งดุ

สมาคมนำเข้าฯ เร่งดันภาครัฐ ปรับลดโครงสร้างภาษีรถนำเข้า ลดความต่างด้านราคาตอบรับความต้องการของผู้บริโภค พร้อมวอนใช้มาตรการ 317 กับรถนำเข้าทุกยี่ห้อ หวังปลดล็อครถค้างในด่านศุลกากร

นายสมศักดิ์ ศรีรัตนประภาส นายกสมาคมผู้นำเข้าและจำหน่ายรถยนต์ใหม่ เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ มีความประสงค์จะให้หน่วยงานราชการพิจารณาเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีรถยนต์นำเข้าของผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ กับผู้นำเข้ารถยนต์อิสระ ให้มีอัตราใกล้เคียงกัน เพื่อให้การแข่งขันทางธุรกิจเป็นไปอย่างเสรี และเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการความแตกต่างในราคาใกล้เคียงกัน หากปัจจุบันราคาของผู้จัดจำหน่ายต่ำกว่าผู้นำเข้ารถยนต์อิสระค่อนข้างมาก ทำให้เกิดการผูกขาดและการแข่งขันทางธุรกิจค่อนข้างลำบาก

ล่าสุด ทางสมาคมฯ ได้มีการปรึกษาหารือกับทางกระทรวงการคลัง ในเรื่องการลดภาษีนำเข้ารถยนต์ โดยทางสมาคมฯ ได้ขอให้มีการพิจารณาปรับลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ (CBU) ทุกยี่ห้อ จากเดิมจัดเก็บในอัตรา 80% โดยขอปรับลดเหลือประมาณ 40%  ซึ่งได้รับการตอบรับจากท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นอย่างดี แต่อัตราการจัดเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จะปรับลดตามที่เสนอหรือไม่ คงต้องรอมติ ครม.ที่จะนำเสนอและประกาศใช้อย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ การปรับลดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ จะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการเป็นเจ้าของรถยนต์รุ่นใหม่ๆ มากขึ้น เนื่องจากรถยนต์ที่ผู้นำเข้าอิสระนำเข้าส่วนใหญ่บริษัทแม่ได้นำเข้ามาจำหน่าย จึงถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภค และเมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น อัตราการเติบโตของตลาดรถยนต์ก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดการสร้างงาน และจ้างงาน ขณะที่ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษี และนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศมากขึ้นด้วย

“ในเรื่องนี้ ทางสมาคมฯ ได้ใช้เวลาในการปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลานานกว่า 4 ปี เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ทั้งคัน (CBU) มีอัตราที่สูงมากเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ เมื่อนำมารวมกับอัตราภาษีที่จัดเก็บของหน่วยงานราชการอื่นๆ อีก 3 ส่วน คือ ภาษีสรรพสามิต ภาษีมหาดไทย และภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ต้นทุนของรถยนต์นำเข้าสูงมาก ส่งผลทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ และผู้บริโภคต้องซื้อรถยนต์ในราคาที่แพงขึ้นอีกด้วย ขณะที่รถยนต์ที่ผลิตในประเทศ หรือรถยนต์นำเข้าจาก 10 ประเทศในเขตอาฟต้า ได้รับการยกเว้นภาษี ทำให้ต้นทุนแตกต่างกันมาก”

พร้อมกันนี้ ทางสมาคมฯ อยากวิงวอน ให้ทางกรมศุลกากรช่วยผ่อนปรนสำหรับรถยนต์ที่ค้างในด่านกรมศุลกากรก่อน โดยการนำมาตรการ 317 มาใช้กับรถยนต์นำเข้าทุกยี่ห้อ เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ลุล่วงเป็นการชั่วคราว เพราะปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ และผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์แต่ไม่ได้รับรถยนต์มาเป็นเวลานานหลายเดือน และในอนาคตหากมีการกำหนดนโยบายและประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ทางสมาชิกสมาคมฯ ก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามกฎระเบียบต่างๆ อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ ตามที่ท่านอธิบดีกรมศุลกากร ได้ประกาศให้มีการนำนโยบายมาตรการ 317 เรื่องการคำนวณอัตราภาษีรถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ กลับมาใช้เป็นการชั่วคราวนั้น เพื่อแก้ปัญหารถยนต์นำเข้าที่ค้างอยู่ที่ด่านกรมศุลกากรมากกว่า 6 เดือน  แต่ยังไม่ครอบคลุมรถยนต์ 4 ยี่ห้อ ได้แก่ เฟอร์รารี่, ลัมโบกินี, มาเซราติ และปอร์เช่ รวมกว่า 1,000 คัน เนื่องจากกรมศุลกากรให้สำแดงราคาจำหน่ายสูงกว่าราคาจำหน่ายในอังกฤษ ปี 2556 โดยพิจารณาว่า ราคารถยนต์จะต้องปรับตัวสูงขึ้นตามเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้นในแต่ละปี

หากในความเป็นจริง ผู้ประกอบคนไทยถือเป็นลูกค้าที่สำคัญของตลาดรถยนต์ในอังกฤษ และการซื้อรถยนต์ในแต่ละครั้งจะซื้อแบบยกล็อตหรือขายส่ง ทำให้ได้รับส่วนลดมาก ไม่สามารถเทียบกับราคาขายปลีกได้ ซึ่งการที่ผู้ประกอบการสามารถซื้อรถในราคาที่ต้นทุนต่ำ ก็ส่งผลดีต่อผู้บริโภคได้มีโอกาสซื้อรถยนต์ในราคาถูกและได้สเปคตามที่ลูกค้าต้องการอย่างแท้จริง

“ในเรื่องรถยนต์นำเข้าที่อยู่ในเขต Free Zone และยังไม่มีการตรวจปล่อยจากด่านศุลกากรทางสมาคมฯ ได้มีการปรึกษาหารือกับท่านปลัดกระทรวงการคลัง และได้ทำหนังสือถึงท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และท่านนายกรัฐมนตรี เนื่องจากทางสมาชิกของสมาคมฯ ได้รับความเดือดร้อน และรถยนต์ที่ค้างอยู่ในเขต Free Zone มีเป็นจำนวนมาก ทำให้การดำเนินธุรกิจของสมาชิกสมาคมฯ ที่เป็น SME ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากการสั่งรถยนต์ในแต่ละครั้งจะต้องสั่งจองล่วงหน้า โดยเฉพาะรถยุโรป ต้องสั่งล่วงหน้าประมาณ 8 เดือน และต้องวางเงินมัดจำประมาณ 25-30% และเมื่อผู้ประกอบการไม่สามารถรับมอบรถยนต์ที่ส่งมาจากซัพพายเออร์ได้ อาจโดนยึดเงินมัดจำ เสียเครดิต หรือถ้ารุนแรงก็ต้องเลิกกิจการ ดังนั้น จึงเป็นอีกประเด็นที่ทางสมาคมฯ อยากจะให้ทางหน่วยงานที่รับผิดชอบเร่งดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน”

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *