web analytics

ติดต่อเรา

บ๊อช เผยกลุ่มธุรกิจที่หลากหลายช่วยคงยอดขายไว้ในระดับสูง

ในสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาของอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มบริษัทบ๊อช ยังคงรักษายอดขายระดับสูงไว้เท่าในปีพ.ศ. 2562 จากตัวเลขผลประกอบการเบื้องต้น พบว่าในปีที่ผ่านมา บ๊อช ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเทคโนโลยีและบริการชั้นนำของโลก สามารถทำยอดขายได้สูงถึง 7.79 หมื่นล้านยูโร ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับยอดขายปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว รายได้ลดลงร้อยละ 1.1 

ดร. โวคมาร์ เดนเนอร์ ประธานกรรมการกลุ่มบริษัทบ๊อช นำเสนอตัวเลขผลประกอบการเบื้องต้นโดยกล่าวว่า “แม้ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยและยอดการผลิตรถยนต์ที่ลดลง ส่งผลกระทบต่อธุรกิจด้านอื่น ๆ ของบ๊อช แต่ด้วยความหลากหลายทางธุรกิจ ส่งผลให้บ๊อชยังสามารถขยายฐานธุรกิจที่มีอยู่ พร้อมทั้งพัฒนาธุรกิจใหม่ให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทายเช่นนี้ บริษัทยังคงลงทุนต่อเนื่องในด้านที่ธุรกิจมีการเติบโตสูง”

ภายในปีนี้ บ๊อช มีแผนลงทุนกว่า 1 พันล้านยูโร เพื่อพัฒนาระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าอัตโนมัติที่เชื่อมต่อกันสำหรับอนาคตข้างหน้า “ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม บริษัทมีบทบาทในการช่วยกำหนดทิศทางไปสู่ทางเลือกใหม่แห่งการขับเคลื่อน พร้อมกับสร้างโอกาสทางธุรกิจของเรา”

ในปีพ.ศ. 2562 บ๊อช ทำกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ราว 3 พันล้านยูโร ส่งผลให้อัตราส่วนกำไร EBIT ต่ำกว่าร้อยละ 4 เล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากภาคการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถดถอย โดยเฉพาะในตลาดหลักอย่างจีนและอินเดีย อีกทั้งสัดส่วนการใช้เครื่องยนต์ดีเซลที่ลดลง จากการปรับต้นทุนทางโครงสร้าง (โดยเฉพาะในตลาดเทคโนโลยีแห่งการขับเคลื่อน) รวมถึงการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนของโครงการที่คาดว่าจะมีความสำคัญในอนาคต

“สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจในปีนี้ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับหลายๆ บริษัท โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ และตลาดวิศวกรรมเครื่องกล ซึ่งรวมถึงบ๊อชด้วย” ศ.สเตฟาน อเซนเคียชเบาเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและรองประธานกรรมการของบ๊อช กล่าว “อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มธุรกิจและภูมิภาคที่มีความสำคัญต่อบ๊อช เราจะผลักดันให้เติบโตแข็งแกร่งกว่าตลาดโดยรวมให้ได้อีกครั้งในปี 2563 นี้” เขากล่าวเสริมพร้อมเน้นย้ำว่า บ๊อชจะยังคงพัฒนาอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อผลกำไร พร้อมกับปรับกำลังการผลิตให้เหมาะสม

 

ระบบการขับเคลื่อนแห่งอนาคต กับการเปลี่ยนแปลงที่ท้าทาย

บ๊อช วางภาพอนาคตแห่งการขับเคลื่อนไว้อย่างชัดเจน รวมถึงวางแนวทางสู่ทางเลือกใหม่ได้อย่างประสบผลสำเร็จด้วย “ระบบการขับเคลื่อนแห่งอนาคตจะไม่เป็นเพียงระบบที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าและเป็นระบบอัตโนมัติเท่านั้น แต่ยังเป็นระบบที่เชื่อมต่อและปรับให้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้งานแต่ละคนได้” ดร.เดนเนอร์ กล่าวพร้อมเสริมว่า การที่บ๊อช มีธุรกิจที่หลากหลาย ทำให้บริษัทมีความพร้อมมากกว่าบริษัทอื่นในการรองรับการพัฒนาและรับมือกับสภาวการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม ดร. เดนเนอร์ กล่าวย้ำให้ตระหนักถึงเส้นทางที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนแห่งอนาคตนั้น จะมาพร้อมกับความท้าทายในอุตสาหกรรมยานยนต์เช่นกัน ประการแรกคือ ประเด็นโต้แย้งที่ไม่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับรถยนต์กับสภาพการจราจรที่แน่นขนัด ประการที่สองคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ยังต้องอาศัยระยะเวลาในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลง โดย ดร.เดนเนอร์เน้นย้ำถึง “ขั้นตอนการทำงาน โดยเฉพาะขั้นตอนพื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า (electromobility) ไม่ใช่สิ่งที่จะทำสำเร็จในชั่วเวลาข้ามคืน” ประการที่สามคือ สภาวะทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นให้เกิดการปรับโครงสร้างของอุตสาหกรรม ซึ่งบ๊อชคาดว่าปริมาณการผลิตยานยนต์ทั่วโลกในปี พ.ศ. 2563 จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และในปีนี้ บริษัทคาดการณ์ว่า การผลิตจะปรับตัวลดลงอีกร้อยละ 2.6 เหลือ 89 ล้านคันทั่วโลก หรือน้อยกว่าที่ผลิตในปีพ.ศ. 2560 เกือบ 10 ล้านคัน นอกจากนี้ บ๊อช ยังคาดว่าการผลิตจะยังคงอยู่ในระดับนี้ต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี และคาดว่าปริมาณการผลิตยานยนต์ทั่วโลกจะไม่เพิ่มขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2568

บริษัทตั้งเป้าที่จะปรับโครงสร้างด้านต้นทุนและแรงงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง รวมถึงกำลังการผลิตที่เกินความต้องการในภาคอุตสาหกรรม โดยจะใช้แนวทางปฏิบัติที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่ายและเป็นที่ยอมรับในทางสากล ดร.เดนเนอร์ กล่าวว่า “เราบรรลุข้อตกลงเรื่องนี้ร่วมกับพันธมิตรเครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Bamberg, Schwieberdingen และ Stuttgart-Feuerbach” เป้าหมายของการดำเนินงานครั้งนี้ ก็เพื่อแนะนำแนวทางและเปิดโอกาสให้พนักงานแต่ละบุคคล ได้ก้าวหน้า รวมทั้งรักษาบุคลากรและทักษะความชำนาญเอาไว้ให้ได้มากที่สุด

 

ระบบการขับเคลื่อนแห่งอนาคต และโอกาสทางธุรกิจสำหรับบ๊อช

“การก้าวสู่ทางเลือกใหม่ ๆ ของเทคโนโลยีการขับเคลื่อน ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของระบบขับเคลื่อน และก็ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของรถยนต์เช่นกัน” ดร.เดนเนอร์ กล่าวพร้อมเสริมว่า บ๊อช มีความพร้อมสำหรับการก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการให้บริการโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อน และกล่าวต่อว่า “การเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลถึงรากฐานในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น ได้ช่วยสร้างโอกาสดี ๆ ให้บ๊อชมากมาย” รวมถึงการเติบโตในด้านเทคโนโลยีการขับเคลื่อนแห่งอนาคต โดยข้อมูลจากสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (International Transport Forum: ITF) ได้ชี้ให้เห็นว่า การเคลื่อนที่ส่วนบุคคลจะเป็นที่ต้องการมากขึ้นถึงร้อยละ 50 ทั่วโลกระหว่างปีพ.ศ. 2558 – 2573 “สิ่งที่เราน่าจะได้เห็นในอนาคตคือ รถยนต์จะยังคงเป็นพาหนะหลักในการคมนาคม แต่จะมีสมรรถนะที่ดีเยี่ยม ทั้งทำให้การคมนาคมปลอดภัยมากขึ้น สะดวกสบายยิ่งขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม” ดร.เดนเนอร์ กล่าว

สำหรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ อินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง หรือ ไอโอที (IoT) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเซลล์เชื้อเพลิง ล้วนจะช่วยผลักดันเข้าไปสู่ยุคการขับเคลื่อนทางเลือกใหม่ ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม บ๊อช มีความได้เปรียบจากการพัฒนาในด้านนี้ตั้งแต่แรก ๆ นอกจากนี้ ผู้ผลิตยานยนต์รายใหม่ ๆ ในตลาดยานยนต์ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า (electromobility) ก็ต้องการให้มีโซลูชั่นที่ครบสมบูรณ์มากกว่าได้โซลูชั่นเพียงบางส่วน

ดร.เดนเนอร์ กล่าวต่อไปว่า  “ในฐานะที่เราเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจร การมีธุรกิจให้บริการระบบมากขึ้น หมายถึงโอกาสการทำยอดขายได้ถึงหลักพันล้าน” ในอนาคต บ๊อช จะได้ประโยชน์จากแนวโน้มตลาดที่เน้นไปในด้านอิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์มากขึ้น โดยประเมินว่า ตลาดของระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่เน้นด้านซอฟต์แวร์จะเติบโตขึ้นร้อยละ 20 ต่อปีนับจากนี้ไปจนถึงปี พ.ศ. 2573 บ๊อช จึงได้จัดงบลงทุนราว 3.7 พันล้านยูโรต่อปีในการพัฒนาซอฟต์แวร์และมีวิศวกรซอฟต์แวร์มากถึง 30,000 คนในปัจจุบัน

 

ยกระดับความเชี่ยวชาญ ด้วยโครงการฝึกอบรมด้าน AI ให้พนักงาน 20,000 คน

ดร.เดนเนอร์ เชื่อว่า กำลังคนที่มีความพร้อม เป็นปัจจัยที่จะทำให้ประสบความสำเร็จเชิงกลยุทธ์ พร้อมรับมือกับความ ท้าทายต่าง ๆ ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้ “บ๊อช มองตัวเราเองว่าเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่ซึ่งการศึกษาหาความรู้เป็นส่วนหนึ่งของงานในแต่ละวัน”

ดร. เดนเนอร์ กล่าวว่า นอกจากบ๊อชจะลงทุนในการเสริมทักษะความเชี่ยวชาญของพนักงานแล้ว บ๊อช ยังเตรียมเปิดโครงการอบรมด้าน AI ให้แก่พนักงานเกือบ 20,000 คน ในรูปแบบการฝึกอบรม 3 ระดับ สำหรับผู้จัดการ วิศวกร และนักพัฒนา AI รวมทั้งวางแนวทางการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบด้วย

 

พัฒนาธุรกิจที่มีการเติบโตสูงด้วยงบราว 3 พันล้านยูโร

บ๊อช มุ่งขยายฐานธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แล้วไปพร้อมกับการเปิดรับโอกาสสำหรับธุรกิจใหม่ด้วยเช่นกัน “ด้วยแนวคิดเช่นนี้ บริษัทจึงได้ลงทุนอย่างมากในการวางพื้นฐานด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตอันหลากหลาย” ดร.เดนเนอร์ กล่าว “ในช่วงระหว่างปีพ.ศ. 2556 – 2563 บ๊อช ได้วางแผนลงทุนกว่า 3 พันล้านยูโร ในธุรกิจใหม่ที่มีการเติบโตสูง” สำหรับปีนี้ บ๊อชจะลงทุนราว 500 ล้านยูโร ในด้านยานพาหนะระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า (electromobility) เพียงอย่างเดียว ซึ่งรวมถึงเซลล์เชื้อเพลิงด้วย และจะลงทุนอีกกว่า 600 ล้านยูโร ในด้านการขับขี่อัตโนมัติ และอีก 100 ล้านยูโร ในด้านโซลูชั่นการขับเคลื่อนที่เชื่อมต่อกัน นอกจากนี้ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2558 เป็นต้นมา บ๊อช ได้ลงทุนไปแล้ว 600 ล้านยูโร ในการขยายงานด้านที่เกี่ยวข้องกับ IoT ซึ่งรวมถึง แคมปัส IoT ของบ๊อชแห่งใหม่ในกรุงเบอร์ลิน พร้อมขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อด้วย

 

ใช้ความได้เปรียบเชิงแข่งขัน เสริมสร้างความเป็นผู้นำและเป็นกลางทางเทคโนโลยี

เมื่อต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีใหม่ บ๊อช ได้ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ เพื่อให้วางใจได้ว่าจะสามารถสร้างยอดขายในตลาดที่มีมูลค่านับพันล้านได้ ตัวอย่างเช่น ก่อนที่จะเปิดตัวระบบขับขี่อัตโนมัติที่ปลอดภัยในตลาด ก็ต้องมีเซ็นเซอร์หลักตัวที่สามเข้ามาเพิ่มเติมจากที่มีกล้องและเรดาร์แล้ว จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบ๊อช จึงต้องทำผลิตภัณฑ์กลุ่มเซ็นเซอร์แบบครบวงจร และได้เริ่มผลิตเซ็นเซอร์ระยะไกลความเร็วสูง (lidar sensors) แล้ว นายเดนเนอร์ อธิบายว่า “ผลิตภัณฑ์นี้จะมาเติมเต็มช่องว่างด้านเซ็นเซอร์ และทำให้การขับขี่อัตโนมัติใกล้ความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น”

เครื่องมือวัดระยะด้วยเลเซอร์นี้ มีความแม่นยำสูง ตรวจจับวัตถุในระยะไกลได้แม้จะไม่ใช่โลหะ เช่น ก้อนหินที่อยู่บนท้องถนน ซึ่งหมายความว่าเซ็นเซอร์จะทำงานจากระยะไกลเพื่อช่วยเพิ่มระยะเวลาในการชะลอหรือหยุดรถ หรือเปลี่ยนทิศทางของรถได้

นอกจากนี้ บ๊อช ยังรุดหน้าในเรื่องการพัฒนาระบบเซลล์เชื้อเพลิง (fuel-cell powertrain) ให้สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ของระบบส่งกำลังเซลล์เชื้อเพลิง พร้อมมีแผนเปิดตัวในปี 2565 อีกทั้งได้ลงทุนในระบบ เครื่องยนต์สันดาป (combustion engine) ที่มีประสิทธิภาพสูงอีกด้วย จากการวิจัยตลาดของบ๊อช เผยให้เห็นว่า สองในสามของรถยนต์ที่จะจดทะเบียนใหม่ในปีพ.ศ. 2573 ยังคงใช้เครื่องยนต์ดีเซลหรือใช้น้ำมันอยู่ อาจเป็นทั้งแบบมีหรือไม่มีระบบไฮบริดให้เลือก

ดร.เดนเนอร์ กล่าวต่อไปว่า “หนทางสู่การขับเคลื่อนที่สะอาด ปลอดก๊าซคาร์บอนฯ นั้น จะต้องใช้เทคโนโลยีที่เป็นกลาง ซึ่งเป็นทางเดียวที่จะทำให้ระบบขับเคลื่อนมีราคาที่เอื้อมถึงได้สำหรับบุคคลทั่วไป” ทางออกที่ตอบโจทย์คือ ระบบ ขับเคลื่อนที่ผสมผสานระหว่างเครื่องยนต์สันดาปประสิทธิภาพสูงและมอเตอร์ไฟฟ้าเทคโนโลยีล้ำสมัย นอกจากนี้ ดร.เดนเนอร์ ยังมีความมุ่งมั่นในการใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์หมุนเวียนด้วย “ยานยนต์ในแบบเดิมนั้น ยังมีการใช้อยู่บนท้องถนน จึงต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย เชื้อเพลิงสังเคราะห์หมุนเวียนจะช่วยให้กระบวนการสันดาปเป็นกลางต่อคาร์บอน” ดังนั้น ดร.เดนเนอร์ จึงได้เรียกร้องให้ผู้ที่มีบทบาทเชิงนโยบาย วางกรอบเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เป็นกลางเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนานวัตกรรม ขั้นตอนนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการก้าวสู่ยุคระบบขับเคลื่อนทางเลือกใหม่ ให้ประสบผลสำเร็จ โดยยังคงรูปแบบเดิมไว้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ด้วย

 

ไปไกลกว่าการขับเคลื่อนแห่งอนาคต ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ต่อเนื่อง

บ๊อชต้องการที่จะก้าวไปให้ไกลกว่าการขับเคลื่อนแห่งอนาคต โดยต้องการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ พร้อมสนับสนุนปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate action) บริษัทจึงต้องการรักษาสมดุลระหว่างเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร และด้วยการที่บริษัทมุ่งไปสู่การเป็นผู้นำด้าน IoT บ๊อชจึงอาศัยเทคโนโลยีเอไอในการขับเคลื่อน “เราต้องการใช้เทคโนโลยีเอไอระดับอุตสาหกรรมมาพัฒนาให้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยลูกค้าในด้านต่าง ๆ และหวังว่าจะช่วยให้เราก้าวขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกในด้านนี้” ดร.เดนเนอร์ กล่าว

ด้วยความมุ่งมั่นดังกล่าว บ๊อชจึงลงทุนไปมากกว่า 100 ล้านยูโร กับการพัฒนาแคมปัสด้านเอไอ (AI campus) โดยเฉพาะ ณ เมืองทือบิงเงน นอกจากนี้ บริษัทยังได้ริเริ่มปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศอีกหลายโครงการ ที่สำคัญคือ ปลายปีพ.ศ. 2562 บ๊อชประสบความสำเร็จทำให้องค์กรมีความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ได้ในสำนักงานทุกแห่งในเยอรมนี และภายในสิ้นปีพ.ศ. 2563 นี้ สำนักงานทุกแห่งทั่วโลกก็จะทำได้เช่นกัน “ปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศและการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า ทำให้บ๊อชมีโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกมากมาย” ดร.เดนเนอร์ กล่าว ทั้งนี้ ในประเทศเยอรมนีเพียงแห่งเดียวก็จะใช้พลังงานหมุนเวียนผลิตไฟฟ้าได้มากถึงร้อยละ 45 ภายในปีพ.ศ. 2568 (ที่มา: BMWi) “จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราจึงจะลงทุนถึง 100 ล้านยูโรเพื่อพัฒนาธุรกิจปั๊มความร้อน ซึ่งจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า”

 

การเติบโตของธุรกิจในปีพ.ศ. 2562 จำแนกตามกลุ่มธุรกิจ

การเติบโตของธุรกิจในส่วนงานต่างๆ ของบ๊อช ปี 2562 มีความคล้ายคลึงกัน ธุรกิจโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อน (Mobility Solutions) ซึ่งมีสัดส่วนยอดขายสูงสุด สามารถขยายตัวได้สูงกว่าอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ทั่วโลก และทำยอดขายระดับ 4.7 หมื่นล้านยูโร เช่นเดียวกับในปีก่อนหน้า ลดลงเพียงร้อยละ 0.1 หรือร้อยละ 1.5 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ส่วนกลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค ทำยอดขายได้ 1.78 หมื่นล้านยูโร ลดลงร้อยละ 0.2 หรือร้อยละ 0.6 เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ธุรกิจของ BSH Hausgeräte GmbH และกลุ่มธุรกิจสินค้าเครื่องมือไฟฟ้า สามารถรับมือกับสภาพการแข่งขันได้ดี โดยกลุ่มธุรกิจสินค้าเครื่องมือไฟฟ้าเติบโตได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ทางด้านกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มียอดขาย 7.4 พันล้านยูโร หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1 จากปีก่อน แม้ยอดสั่งซื้อจากธุรกิจวิศวกรรมเครื่องกลจะลดลงมากกว่าร้อยละ 4 เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว ยอดขายจะลดลงร้อยละ 1.2 สำหรับกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานและอาคาร เติบโตร้อยละ 1.5 และทำยอดขายได้ 5.6 พันล้านยูโร เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว

 

การเติบโตของธุรกิจในปี 2562 จำแนกตามภูมิภาค

ในยุโรป ธุรกิจของบ๊อชพัฒนาได้อย่างมีเสถียรภาพ สามารถทำยอดขายได้ 4.1 หมื่นล้านยูโรในระดับเดียวกับปีก่อน สำหรับตลาดอเมริกาเหนือ ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เป็น 1.3 หมื่นล้านยูโร และเมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้ว จะลดลงเพียงร้อยละ 0.5 ด้านอเมริกาใต้ ยอดขายเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 หมื่นล้านยูโร เติบโตร้อยละ 1.1 หรือร้อยละ 5.3 เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่เอเชียแปซิฟิก ธุรกิจโดยรวมไม่สดใส ยอดขายลดลงร้อยละ 3.1 เป็น 2.25 หมื่นล้านยูโร หรือลดลงร้อยละ 4.5 เมื่อปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ของยอดขายได้รับผลกระทบจากความซบเซาของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในตลาดจีนและอินเดีย ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตที่ดี

 

มีพนักงานทั่วโลกประมาณ 403,000 คน

กลุ่มบริษัทบ๊อช มีการจ้างงานประมาณ 403,000 คนทั่วโลก จากข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยตำแหน่งงานลดลง 6,800 ตำแหน่งหรือร้อยละ 1.7 ส่วนใหญ่เป็นการปรับเปลี่ยนในประเทศจีนและเยอรมนี

 

คาดการณ์ภาพรวมธุรกิจปี 2563 เสริมสร้างผลกำไรแม้สภาพเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัว

สำหรับปีพ.ศ. 2563 บ๊อช คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตเพียงร้อยละ 2.0 ซึ่ง ศ.อเซนเคียชเบาเมอร์ กล่าวว่า “ในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนตัวต่อเนื่อง อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะชะลอลงจากเดิม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหลักอย่างยานยนต์และการผลิตเครื่องจักรกล ที่คาดว่าการเติบโตจะลดลง นอกจากนี้ สถานการณ์ด้านการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ส่งผลให้ไม่สามารถคาดการณ์ได้ชัดเจนนัก เมื่อพิจารณาถึง กำลังการผลิตที่มากเกินความต้องการในอุตสาหกรรมยานยนต์และการเปลี่ยนไปสู่เทคโนโลยีเครื่องยนต์แบบผสม บ๊อชได้ทบทวนโครงสร้างต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากจำเป็น อาจมีการปรับในส่วนของพนักงาน โดยใช้แนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้” ศ.อเซนเคียชเบาเมอร์ ยังกล่าวต่อไปว่า “เราคาดว่าปีนี้จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับบ๊อชเช่นกัน ซึ่งก็ยิ่งทำให้เราทำงานหนักขึ้นเพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านผลกำไร” ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรระดับสูงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เป็นเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการลงทุนในเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีความสำคัญในอนาคต และส่งผลต่อแผนการปรับองค์กรด้วย

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *