web analytics

ติดต่อเรา

เยาวชนโครงการ PTTEP Teenergy ปีที่ 3 ชนะไอเดีย สร้างสรรค์ 2 โครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

4 ธันวาคม วันสิ่งแวดล้อมไทยจากสายพระเนตรอันกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม นำมาสู่โครงการตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมมากมาย นับเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่หันมาริเริ่มโครงการอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ด้วยเหตุนี้ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จึงได้ร่วมกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จัดโครงการ “PTTEP Teenergy ปีที่ 3”

เพื่อสนับสนุนและเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมแสดงพลังสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผ่านกิจกรรมค่าย ณ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นเวลา 3 วัน 2 คืน ซึ่งเยาวชนได้สัมผัส เรียนรู้คุณค่าและความสำคัญของแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติจากนักอนุรักษ์แนวหน้าของเมืองไทย

รวมทั้ง มีกิจกรรมเวิร์คชอปจุดประกายการทำโครงการเพื่อสังคม ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อยอดหลังการปิดค่าย โดยเยาวชนสามารถนำความรู้จากการทำโครงการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้หรือปฎิบัติจริงเพื่อประโยชน์ของสถานศึกษา ชุมชนของตน หรือสังคมในวงกว้างได้

กิติศักดิ์ นวลจันทร์ฉาย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานเทคโนโลยีและพัฒนาความยั่งยืน ปตท.สผ. ในฐานะประธานคณะกรรมการโครงการ PTTEP Teenergy เปิดเผยว่า ปตท.สผ. เชื่อว่าการปลูกฝังจิตสำนึกให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นปัจจัยหลักในการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

จึงได้เริ่มโครงการ PTTEP Teenergy ในปี 2557 และดำเนินโครงการต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ปีนี้ได้ต่อยอดขยายผลให้เห็นเป็นรูปธรรม เยาวชนที่นำเสนอโครงการและผ่านการคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุนในการลงพื้นที่ปฏิบัติโครงการจริงด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ ทั้งนี้ ปตท.สผ. มุ่งให้เกิดเป็นเครือข่ายพลังคนรุ่นใหม่หัวใจอนุรักษ์ที่จะเป็นพลังสำคัญในการมีส่วนร่วมคิดร่วมทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

โครงการที่ผ่านการคัดเลือก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ เก็บฉันไว้ก่อนและโครงการ ป้อมปลา (ต้อง)การ ซึ่งมีแนวคิดน่าสนใจ สามารถช่วยแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ รวมถึงต่อยอดเป็นโครงการต้นแบบให้หน่วยงานและสถานศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาดูงาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ขยายออกไปในวงกว้าง

3             2

โครงการ เก็บฉันไว้ก่อนมีที่มาจากเยาวชนนักอนุรักษ์ 4 คน จากจังหวัดอุบลราชธานี ขอนแก่น ชุมพร และนครศรีธรรมราช ที่เห็นว่าขยะเป็นของมีค่า จึงให้ความสำคัญกับการจัดการขยะอย่างเป็นระบบ รวมถึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมพลังเยาวชนแกนนำเพื่อปลูกฝังทัศนคติที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของนักเรียน ครู และบุคลากรในโรงเรียน ผ่านกลยุทธ์ ด้วยพลังและหัวใจ

โดยมีการเผยแพร่องค์ความรู้ในการคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีและการบริหารจัดการขยะอย่างเป็นระบบ ผ่านหลากหลายกิจกรรม อาทิ กิจกรรมเก็บฉันไว้ก่อน กิจกรรมขยะสามสี ประกวดออกแบบถังขยะ กิจกรรมถุงทองชิงโชค เป็นต้น เพื่อดึงดูดให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมกับโครงการผ่านการคิดและลงมือทำด้วยตนเอง

 มัสยา ส่องาม หรือ น้องเฟินนี่ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนม่วงสามสิบอัมพวันวิทยา จ. อุบลราชธานี หนึ่งในตัวแทนของโครงการเก็บฉันไว้ก่อน กล่าวว่า คนส่วนใหญ่มองว่าขยะไร้ค่า ไม่มีประโยชน์ จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องจัดการอย่างถูกวิธี โดยไม่คำนึงว่าการมองข้ามเรื่องเล็กmๆ น้อย ๆ นี้ จะทำให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา

ม่ว่าจะเป็นปัญหามลภาวะ น้ำเสีย และความไม่สวยงามของพื้นที่บริเวณนั้น หนูจึงอยากให้ทุกคนเข้าใจและทำความรู้จักกับ ขยะกันเสียใหม่ อยากให้มองว่าขยะเป็นสิ่งที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้ และทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สิ่งแวดล้อมสวยงามได้จากการกระทำของเราเอง โครงการนี้จึงเป็นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกับการปลูกฝังจิตสำนึกให้กับคนทุกกลุ่มอีกด้วย

สำหรับโครงการ ป้อมปลา (ต้อง) การเกิดจากการระดมความคิดของเยาวชน 5 คน จาก จ.สงขลา นครศรีธรรมราช มุกดาหาร และนครปฐม ในการสะท้อนปัญหาพื้นที่ป่าชายเลนในปัจจุบันที่ถูกบุกรุกทำลายเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พื้นที่นั้นเสื่อมสภาพและปริมาณสัตว์น้ำลดลง

อีกทั้ง ชาวประมงยังได้รับผลกระทบด้านรายได้และความเป็นอยู่อีกด้วย เยาวชนกลุ่มนี้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นและมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาพื้นที่ป่าชายเลนให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ด้วยการเพิ่มจำนวนต้นกล้าในพื้นที่ป่าชายเลน รวมถึงเพิ่มปริมาณสัตว์อนุบาลในป่าชายเลนและสัตว์น้ำในทะเล โดยมุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายและขอความร่วมมือจากหน่วยงานและชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงกระตุ้นจิตสำนึกให้เยาวชนในพื้นที่เห็นความสำคัญของป่าชายเลน

ญาตาวี เต็มรัตน์ หรือ น้องฟ้า นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนหาดใหญ่รัฐประชาสรรค์ จ.สงขลา กล่าวถึงแรงบันดาลใจในการริเริ่มโครงการป้อมปลา (ต้อง) การ ว่า หนูเป็นเด็กภาคใต้ มีความใกล้ชิดกับป่าชายเลนและได้รับรู้ถึงปัญหาของป่าชายเลนอยู่เสมอ จึงอยากเริ่มทำโครงการนี้ขึ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงโครงการเล็ก ๆ ของเยาวชน

แต่หนูและเพื่อน ๆ สมาชิกในกลุ่มจะทำโครงการนี้ด้วยความมุ่งมั่น ตามรอยของพ่อหลวงที่ทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและประโยชน์ของประเทศชาติมาเป็นอันดับแรก หนูหวังว่า ในอนาคตอันใกล้นี้จะมีเยาวชนและหน่วยงานต่างๆ เข้ามาส่งเสริมและให้ความสำคัญกับป่าชายเลนมากขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างป่าชายเลนให้เป็นกำแพงชายฝั่งปกป้องผืนดินของไทยต่อไป

โครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม 2 โครงการจากกลุ่มเยาวชนดังที่กล่าวมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้างสังคมสีเขียวได้ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย แม้จะเริ่มจากจุดเล็ก ๆ แต่หากจุดเล็ก ๆ เหล่านั้นมารวมกันก็สามารถก่อให้เกิดผลอันยิ่งใหญ่ได้ ปตท.สผ. เชื่อมั่นว่าพลังคนรุ่นใหม่เหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยทำให้โลกของเราน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิม และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในวันข้างหน้า

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *