web analytics

ติดต่อเรา

เคเอฟซี ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย ยกระดับคุณภาพชีวิตเด็กไทย

เคเอฟซี ประเทศไทย ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยเป็นปีที่ 3  จัด“โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้การเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนอย่างยั่งยืน” เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของเคเอฟซีทั่วโลก ภายใต้แคมเปญ KFC Add Hope เพื่อเติมเต็มด้านอาหารและโภชนาการ วางรากฐานและพัฒนาทักษะด้านการเกษตรและอาหารอย่างยั่งยืนให้แก่ชุมชน

มร.อัลฮูล ซัวฮาน รองประธานกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด – เคเอฟซี ประเทศไทย  บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะประธานโครงการกิจการเพื่อสังคม เคเอฟซี ประเทศไทย กล่าวว่า “การขาดแคลนอาหารในชุมชนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการความช่วยเหลือในหลายพื้นที่ทั่วโลก เคเอฟซีมีความมุ่งมั่นที่จะร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยในระดับโลกได้มีการจัดแคมเปญ KFC Add Hope เพื่อระดมทุนช่วยเหลือเด็กที่ขาดแคลนอาหารในพื้นที่ต่างๆ และเปิดโอกาสให้เคเอฟซีนำเงินไปช่วยเหลือท้องถิ่นผ่านองค์กรสาธารณกุศลในท้องถิ่น  สำหรับในประเทศไทยนั้น เคเอฟซี ได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมเพื่อเติมเต็มด้านอาหารและโภชนาการและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ในปีนี้ เคเอฟซีได้ร่วมมือกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน นำเหล่าอาสาสมัครจากเคเอฟซีลงพื้นที่บำเพ็ญประโยชน์และส่งมอบอาหารที่ได้คุณภาพให้กับคนในชุมชน รวมไปถึงเสริมสร้างทักษะให้ทุกคนสามารถสร้างแหล่งอาหารที่มีคุณภาพ พอเพียง ถูกหลักสุขอนามัย และเปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการอย่างยั่งยืน”

โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้การเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนอย่างยั่งยืน ถือเป็นหนึ่งในหลายโครงการฯ ภายใต้แคมเปญAdd Hope ที่เคเอฟซีได้จัดสรรปันส่วนเงินบริจาคจากกล่องบริจาค “KFC เติมฝัน…เติมสุข ร่วมเติมเต็มให้น้องท้องอิ่ม” ที่ได้รับจากลูกค้าผู้มีอุปการะคุณที่ร้านเคเอฟซีทั่วประเทศ โดยในปีนี้ เคเอฟซีได้นำเงินกว่าสองล้านบาทเพื่อนำมาจัดโครงการฯ นี้ให้กับ 5 โรงเรียนในถิ่นทุรกันดารในประเทศไทย ได้แก่ โรงเรียนบ้านลำทับ อ.ลำทับ จ.กระบี่ โรงเรียนบ้านตาโมม อ.สังขะ จ.สุรินทร์ โรงเรียนชุมชนบ้านตากแว้ง อ.บ่อไร่ จ.ตราด โรงเรียนวัดวังก์วิเวการาม อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านแม่กลองคี อ.อุ้มผาง จ.ตาก

ด้านนางจิตรา ธรรมบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ขอขอบคุณเคเอฟซี ที่ได้สนับสนุนและทำงานร่วมกับทางมูลนิธิฯ เป็นอย่างดีเสมอมา ในการมอบโภชนาการที่ดีให้กับเด็กๆ รวมถึงสร้างโครงการฯ ที่วางรากฐานให้นักเรียนมีทักษะด้านการเกษตรติดตัว ซึ่งพวกเขาสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต และเติบโตขึ้นเป็นเสาหลักของประเทศชาติ”

สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้น ณ โรงเรียนบ้านลำทับ อ.ลำทับ จ.กระบี ทางเคเอฟซีได้ให้ความรู้และร่วมทำกิจกรรมการจัดสรรการทำการเกษตรภายในโรงเรียนที่เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นเพื่อนำผลผลิตที่ได้มาหมุนเวียนทำเมนูอาหารกลางวันให้กับครูอาจารย์ นักเรียน และชาวบ้านในชุมชน อาทิ การเลี้ยงปลาดุกและปลานิลในกระชังและในนาข้าว การประยุกต์เลี้ยงกบในคอนโดกบ การเพาะเห็ดชนิดต่างๆ รวมถึงการปลูกพืชผักสวนครัวอย่างง่าย เป็นต้น อีกทั้งยังได้นำไก่ทอดเคเอฟซีมามอบเป็นอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน และบุคลากรในโรงเรียนโดยทั่วกันในวันจัดงานอีกด้วย

นางคณิต โอทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลำทับ เผยว่า “ปัจจุบันนี้โรงเรียนและหน่วยงานต่างๆ ในกระบี่และจังหวัดอื่นๆ ในภาคใต้มาศึกษาดูงานของเรา พร้อมนำหลักการและการดำเนินงานไปเป็นแนวทางในการพัฒนาการเกษตรเพื่อเป็นแหล่งอาหารอันยั่งยืนในท้องถิ่นของตน ดังนั้นการจัดโครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้การเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนอย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนของเคเอฟซีและมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ นับเป็นความร่วมมืออันดีที่ควรส่งเสริมและต่อยอดโครงการร่วมกันต่อไปในอนาคต”

นอกจากนี้ พนักงานอาสาสมัครจากเคเอฟซีทียังได้กล่าวถึงความรู้สึกต่อกิจกรรมในครั้งนี้ว่า ตนและเพื่อนพนักงานรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำกิจกรรมนี้ เพราะนอกจากจะได้มีโอกาสมาช่วยเหลือนักเรียนและชุมชนในท้องถิ่นอย่างใกล้ชิดแล้ว ยังได้แลกเปลี่ยนและให้ความรู้กับชาวบ้านในชุมชนด้านอาหารและโภชนาการอีกด้วย กิจกรรมนี้เป็นเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นและพันธกิจของเคเอฟซีในการสนับสนุนการลดความหิวโหยในสังคมอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้การเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนอย่างยั่งยืน ถือเป็นส่วนหนึ่งในพันธกิจการช่วยเหลือสังคมภายใต้แคมเปญ KFC Add Hope ซึ่งเป็นโครงการเพื่อสังคมจากเคเอฟซีทั่วโลกเพื่อบรรเทาความหิวโหย ส่งผลให้คนในชุมชนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นจากการได้รับประทานอาหารที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ อีกทั้งยังสามารถนำเอาองค์ความรู้ และผลผลิตทางการเกษตรที่ได้มาประกอบอาหาร และจัดจำหน่าย เกิดเป็นการสร้างอาชีพ รายได้ และทุนหมุนเวียนภายในโรงเรียนและชุมชนได้อย่างยั่งยืน

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *