web analytics

ติดต่อเรา

17 ผู้ประกอบการไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน !

ตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ 17 โครงการเดือดร้อนหนัก ยื่นเรื่องร้องเรียนผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กรณีเตะถ่วงการซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทั้ง ๆ ลงทุนไปกว่าสองพันล้าน เสียเวลาไปกว่า 1,500 วัน ถามใครรับผิดชอบ

คฑายุทธ์ เอี่ยมเล็ก กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุริยะพลัง จำกัด ตัวแทนผู้มอบอำนาจจาก ผู้ประกอบการ 17 โครงการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ โซนพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.หนองคาย จ.บึงกาฬ และจังหวัดสกลนคร) ได้เดินทางมาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ เพื่อยืนหนังสือร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดินโดยมี ธาวิน อินทร์จำนงค์ รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว

คฑายุทธ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ผู้ประกอบการโครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ขนาดไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ทั้ง 17 โครงการ ได้รับความเดือดร้อนอย่างสาหัส เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. หาเรื่องเตะถ่วงการซื้อกระแสไฟฟ้าที่เอกชนทำไว้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ปล่อยให้ผู้ประกอบการต้องแบกภาระหนี้สินมากกว่า 2 พันล้านบาท ศูนย์เสียดอกเบี้ยให้ธนาคารมานานกว่า 1,500 วัน เรื่องนี้เกิดขึ้นมากว่า 4 ปีแล้ว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2555 พวกเราได้รับหนังสือการยกเลิกสัญญาฉบับแรก จาก กกพ. สาเหตุที่ กกพ.จะยกเลิกคือ การก่อสร้างโรงไฟฟ้าล่าช้า ซึ่งเราก็ได้อุทธรณ์ไปว่า เพราะติดปัญหาหลายอย่างโดยเฉพาะเรื่องแนวเขตพื้นที่ก่อสร้าง แต่การก่อสร้างก็ยังเดินหน้าต่อเนื่อง ซึ่งตอนที่ กกพ. ทำหนังสือมานั้นบางโครงการแล้วเสร็จไปแล้วกว่า 80-90% จะให้เราหยุดแล้วยกเลิกสัญญาได้ยังไง เราลงทุนไปแล้วไม่ใช่บาทสองบาท

“ในครั้งนั้นการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ฐานะคู่สัญญาและผู้ประกอบการ ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยหลังจากตรวจสอบคณะทำงานของทั้ง 2 ฝ่ายได้ข้อสรุปว่า “ความล่าช้าในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของทั้ง 17 โครงการ เป็นเหตุสุดวิสัย มิได้เกิดจากการจงใจ กฟภ.จึงยังไม่มีสิทธิยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เป็นผลให้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่ระงับสิ้นไป และยังคงมีผลผูกพันโดยชอบด้วยกฎหมาย สมควรที่ กฟภ.และบริษัทฯ จะตกลงกำหนดวันเริ่มต้นซื้อขายไฟฟ้าใหม่ต่อไปภายหลัง”

อย่างไรก็ดีจากวันนั้นจนถึงปัจจุบัน เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่ทีท่าว่าจะสิ้นสุด กกพ.ยังคงเตะถ่วงมีการประชุมอีกหลายครั้ง ต้องยืนยันด้วยเอกสารจำนวนมาก ทั้ง ๆ ผู้ประกอบการเองก็มีพร้อมทุกด้านที่จะขายไฟฟ้าให้ กฟภ.แต่เรื่องราวกลับไม่จบยืดเยื้อมากว่า 1,500 วันแล้วพวกเราต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อปี และที่ผิดสังเกตอย่างมากคือ กกพ.อนุญาตให้ 3 บริษัทฯ คือ 1.บจก.แม่โขง โซล่าพาวเวอร์ 2.บจก.สมภูมิโซล่าเพาเวอร์ และ 3.หจก.ภูพานเทคโนโลยี ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขสัญญาเดียวกันได้สิทธิ์จ่ายกระแสไฟฟ้าขายไฟฟ้าให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กฟภ.ไปแล้ว และได้ราคาซื้อขายเดิมคือ 11 บาท (รวมค่าแอดเดอร์) ตนจึงคิดว่า กกพ.ใช้หลักอะไรมาพิจารณาแบบนี้เข้าข่าย เลือกปฏิบัติหรือไม่?

ส่วนอีก 17 โครงการยังคงยืนอยู่บนความเดือดร้อน ยังคงรอคอยความหวังต่อไป และยิ่งไปกว่านั้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา กกพ. มีหนังสือส่งมาให้ผู้ประกอบการเซ็นหนังสือยอมรับราคาการซื้อขายไฟฟ้าในราคาต่ำลงจากสัญญาเดิมที่ทำไว้กับ กฟภ.คือ 3 บาทต่อหน่อยบวกกับ 8 บ่าทคือค่าเอดเดอร์ (ค่าจูงใจเพื่อเชิญชวนให้เอกขนมากลงทุน) รวมเป็น 11 บาทต่อหน่วย ลดลงมาเหลือประมาณ 5.377 บาทต่อหน่วย ซึ่งราคานี้พวกเรารับไม่ได้เพราะเมื่อตอนที่ลงทุนวัสดุอุปกรณ์โซล่าเซลล์ราคาสูงกว่าวันนี้กว่าเท่าตัว คณะรัฐมนตรีสมัยนั้นถึงต้องมีเงินจูงใจอุดหนุนให้ผู้ประกอบการมาลงทุนกันเยอะ ๆ เราลงทุนไปโรงละไม่ต่ำกว่า 130 ล้านบาท แต่พอมาถึงวันนี้ผู้ประกอบการรุ่นบุกเบิกเสี่ยงตายตามคำชวนเชื่อของรัฐบาลต้องมาเป็นหนี้เป็นสินด้วยราคาที่เป็นไปไม่ได้ 5 บาทต่อหน่วยส่งดอกเบี้ยยังไม่พอเลย คฑายุทธ์ กล่าว

คฑายุทธ กล่าวต่อไปว่าที่มาร้องเรียนผู้ตรวจการวันนี้ เพื่อขอให้ท่านช่วยตรวจสอบใน 3 ประเด็นดังนี้

1.อยากให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตรวจสอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ว่ามีหน้าที่หรืออำนาจกำกับดูแลโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีกำลังผลิตไม่เกิน 1 เมกกะวัตต์หรือไม่? เนื่องจากในพระราชกฤษฎีกา ระบุไว้ว่างการผลิตไฟฟ้าทั้ง 17 โครงการนั้น “เป็นกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการพลังงาน ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดประเภท ขนาดและลักษณะของกิจการพลังงานที่ได้รับยกเว้นฯ ประกาศใช้เมื่อ 1 มิถุนายน 2552” พวกเราจึงไม่แน่ใจว่า กกพ.มีหน้าที่ควบคุมหรือวางระเบียบอะไรต่อมิอะไรกับพวกเรามากมายขนาดนี้เลยเหรอ ทั้ง ๆ ที่ ไม่ใช่คู่สัญญาของเรา ขนาดคู่สัญญาของเรา กฟภ.ยังเอือมระอากับบทบาทของ กกพ.

2. เหตุใด 3 โครงการของ บจก.แม่โขง โซล่าพาวเวอร์ บจก.สมภูมิโซล่าเพาเวอร์ และหจก. ภูพานเทคโนโลยีได้สิทธิ์จ่ายกระแสไฟฟ้าขายให้ กฟภ.แล้ว ทั้งๆ ที่มีคุณสมบัติเหมือนกับ 17 โครงการของพวกเรา กกพ.ยังไม่พิจารณา ตรงนี้ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่?

3. เลขาธิการ กกพ.ได้ทำหนังสือถึงผู้ประกอบการ ลงวันที่ 3 สิงหาคม 2559 เรื่องแจ้งเงื่อนไขประกอบการออกใบแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต พร้อมแนบบันทึกรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไข การรับแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาต ซึ่งมีเนื้อความระบุเงื่อนไขให้บริษัทต้องยอมรับราคาอัตราค่าซื้อขายไฟฟ้า ที่ไม่เป็นไปตามเจตนาของการทำสัญญา พร้อมให้บริษัทสละสิทธิ์ในการฟ้องร้องหรือเรียกค่าเสียหายใด ๆ กับกกพ. ตรงนี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเราหรือไม่?

คฑายุทธ์ เอี่ยมเล็ก กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุริยะพลัง จำกัด กล่าวทิ้งท้าย วันนี้จำเป็นต้องมาขอความเป็นธรรมจากสำนักงานตรวจการแผ่นดิน เพื่อและช่วยตรวจสอบว่าเหตุใดจึงมีความไม่ชัดเจน ล่าช้า ยืดเยื้อ เลือกปฏิบัติ หวังว่าจะได้รับความยุติธรรมบ้างครับ

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *