web analytics

ติดต่อเรา

แพทย์ รพ. วิมุต ชวนพ่อ-แม่ยุคใหม่เตรียมความพร้อมรอบด้านเพื่อลูกน้อย ตั้งแต่เริ่มครรภ์สู่การเลี้ยงดูแบบสร้างสรรค์ ชี้ “กังวลได้ แต่อย่าแพนิก”

ช่วงนี้เราคงได้ยินวลี “มีลูกเมื่อพร้อม” ซึ่งเป็นประเด็นที่พูดถึงกันอยู่บ่อย ๆ ในโลกโซเชียล ทำให้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่จำนวนมาก อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หากจะมีลูกสักคน เราต้อง “เตรียมความพร้อม” อย่างไรบ้าง พร้อมคำถามที่ตามมาว่าการเลี้ยงดูแบบไหนในยุคดิจิทัลที่จะทำให้ลูกเติบโตอย่างสมวัยและมีความสุข เพราะการเลี้ยงเด็กให้โตเป็นผู้ใหญ่ที่แข็งแรงทั้งกายและใจไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ นับเป็นงานท้าทายที่อาศัยความเข้าใจและใส่ใจอย่างมาก แต่หากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่เตรียมตัวให้พร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ จากงานหนักก็กลายเป็นเบาได้เหมือนกัน

 

ส่องเช็คลิสต์การเตรียมร่างกายคุณแม่ก่อนตั้งครรภ์

พญ. พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี สูตินรีแพทย์ ศูนย์สูตินรีเวช โรงพยาบาลวิมุต มาบอกเล่าเช็คลิสต์การตรวจร่างกายของว่าที่คุณแม่ ให้ทั้งแม่และลูกปลอดภัยแข็งแรง “การตรวจสุขภาพในช่วงวางแผนตั้งครรภ์เป็นหนึ่งขั้นตอนที่สำคัญมาก ควรตรวจทั้งว่าที่คุณพ่อและว่าที่คุณแม่ เพื่อความปลอดภัยของทั้งแม่และลูก โดยนอกเหนือจากการซักประวัติและตรวจร่างกาย จะมีการตรวจอื่นๆที่จำเป็น ได้แก่ 1) การตรวจเลือดเพื่อคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่อาจส่งผลกับการตั้งครรภ์ได้ หากพบติดเชื้อแนะนำรับการรักษาให้หาย หรือควบคุมโรคได้ก่อนตั้งครรภ์ 2) การตรวจเลือดเพื่อคัดกรองภาวะพาหะโรคทางพันธุกรรมที่มีโอกาสถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกได้ เช่น โรคธาลัสซีเมีย ซึ่งคนไทยอาจพบเป็นพาหะมากกว่า 40% หากพบว่าคุณพ่อและคุณแม่มีความเสี่ยงที่ทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์ 3) การฉีดวัคซีนก่อนตั้งครรภ์ โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัดเยอรมันในว่าที่คุณแม่ตรวจพบว่ายังไม่มีภูมิคุ้มกันโรค หลังจากนั้นเมื่อตั้งครรภ์แล้ววัคซีนที่แนะนำก็คือ วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโรคคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรน และที่สำคัญในปัจจุบันคือ อย่าลืมรับวัคซีนป้องกันโควิด19ชนิด mRNAเมื่ออายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ด้วย นอกจากนี้ว่าที่คุณแม่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมออีกด้วยค่ะ”

 

เผยเทคนิครับมืออาการแพ้ท้อง ชี้หากหนักมากต้องรีบพบแพทย์

อาการแพ้ท้องของคุณแม่เกิดจากฮอร์โมนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการตั้งครรภ์ แพ้มากแพ้น้อยก็ขึ้นอยู่กับผู้หญิงแต่ละคน โดยปกติอาการที่พบได้บ่อยในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสแรก ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน รู้สึกอ่อนเพลีย และเวียนศีรษะได้ง่าย ซึ่งส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงมากและดีขึ้นหลัง 3 เดือนแรก พญ. พรรณลดา ฉันทศาสตร์รัศมี อธิบายว่า “เมื่อตั้งครรภ์ ฮอร์โมนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ระบบต่างๆในร่างกายเปลี่ยนไป ประสาทรับกลิ่นไวขึ้น จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด มีกลิ่นฉุนหรือน้ำหอมกลิ่นแรงที่ทำให้รู้สึกคลื่นไส้ และหากคุณแม่รู้สึกอ่อนเพลีย แนะนำให้พักผ่อนให้มาก ๆ ลดกิจกรรมในระหว่างวัน รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาการดังกล่าวจะค่อยๆดีขึ้นเมื่อพ้นไตรมาสแรก แต่หากคุณแม่อาเจียนบ่อย รุนแรงจนน้ำหนักลด หรืออ่อนเพลียมาก แนะนำให้พบแพทย์ เพราะการอาเจียนต่อเนื่อง อาจทำให้คุณแม่เกิดภาวะขาดน้ำและช็อกได้ นอกจากนี้ อาการที่ควรสังเกตระหว่างตั้งท้องก็คือ การตกขาวที่มากขึ้น ซึ่งเกิดจากฮอร์โมนเช่นกัน แต่หากตกขาวมีกลิ่นแรงและสีผิดปกติ อาจแสดงถึงภาวะติดเชื้อซึ่งคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรักษาต่อไป”

 

คุณพ่อ…กำลังใจสำคัญของคุณแม่มือใหม่

พญ. พรรณลดา เล่าว่า คุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์และหลังคลอด มักจะมีอารมณ์ที่แปรแปรวน อ่อนไหวง่าย และอาจมีความเครียดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและภาระของคุณแม่มือใหม่ในช่วงหลังคลอด ซึ่งคนในครอบครัวโดยเฉพาะสามี ถือเป็นแรงซัพพอร์ตสำคัญที่จะคอยให้กำลังใจและดูแลคุณแม่ด้วยความเข้าอกเข้าใจ ชวนกันไปทำกิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย หาที่เที่ยวที่ทำให้จิตใจสงบและช่วยแบ่งเบาภาวะในการดูแลลูกน้อย เพื่อให้คุณแม่ได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ “หากคุณแม่มีอารมณ์แปรปรวนรุนแรง หรือมีอาการเข้าข่ายภาวะซึมเศร้า ให้รีบพบแพทย์เพื่อประเมินและวินิจฉัยอาการโดยเร็ว” พญ. พรรณลดา กล่าว

และเมื่อลูกน้อยลืมตาดูโลกมาอย่างแข็งแรงปลอดภัย ความกังวลใจของคนเป็นแม่ก็คลายไปบ้าง แต่บททดสอบสุดหินที่รออยู่ คงจะหนีไม่พ้นการดูแลเลี้ยงดูให้เขามีพัฒนาการทางร่างกายและอารมณ์ให้สมบูรณ์ ซึ่งเรื่องนี้ พญ. วรรัตน์ โกวิทจินดาชัย กุมารแพทย์ ศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลวิมุต มีทริคดีๆ มาฝากคุณแม่มือใหม่ พร้อมบอกเล่าถึงความต้องการพื้นฐานของลูกตามธรรมชาติของเด็ก และตอบคำถามที่คาใจหลาย ๆ บ้าน “ทำยังไงให้ลูกไม่ดื้อ ไม่ติดมือถือ”  

“พัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยจะแตกต่างกันไป ไม่ว่าเป็นจะการหัดเคี้ยวอาหาร หัดเดิน หัดพูด และหัดรู้จักกติกาของการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ซึ่งพ่อแม่ หรือคุณครูคนแรกของลูก จำเป็นต้องดูแลให้ลูกมีพัฒนาการที่เหมาะสม ทั้งการประคองให้น้องหัดเดิน พูดให้ฟังบ่อย ๆ เล่านิทานเพื่อสอนคำศัพท์ต่าง ๆ ชวนทำกิจกรรมในครอบครัวที่ทำให้น้องได้ใช้ความคิด ฝึกสมาธิ และสนุกไปพร้อมกัน เช่น ต่อบล็อก วาดภาพระบายสี เกมจับคู่ หรือเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีไม่ควรใช้จอ เป็นต้น” พญ. วรรัตน์ อธิบาย

 

กุมารแพทย์แนะ “พ่อแม่อย่าแพนิกเมื่อลูกซน”

“ถ้าถามว่าคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ต่างจากแต่ก่อนอย่างไร สิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนก็คือ เมื่อก่อนการเลี้ยงดูอาจจะอาศัยการทำตาม ๆ กันมา เดี๋ยวนี้ครอบครัวยุคใหม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเรื่องการเลี้ยงดูเด็กและการเสริมสร้างพัฒนาการของลูกที่แนะนำกันอยู่มากมายในอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นเรื่องดี แต่บางครั้ง พ่อแม่ก็รับข้อมูลมากจนแพนิกไปก็มี เช่น ยกตัวอย่างเคสที่เคยเจอ พ่อแม่อาจคิดว่าลูกสมาธิสั้น คิดว่าลูกเราผิดปกติเพราะลูกอยู่ไม่นิ่ง หยิบจับของทุกอย่าง หรือวิ่งไปทั่วห้าง ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นธรรมชาติของเด็กวัย 1-3 ปี ที่จะชอบสำรวจและอยากรู้อยากเห็น เราในฐานะพ่อแม่ให้คอยดู คอยชี้แนะ และคุยกันด้วยเหตุผล แนะนำว่าคุณพ่อคุณแม่อย่าห้าม อย่าตี อย่าขึ้นเสียงหรือใช้ถ้อยคำรุนแรง เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว น้องจะรู้สึกต่อต้านและเลียนแบบพฤติกรรมที่รุนแรงได้ ก็จะยิ่งดื้อยิ่งซนกว่าเดิม”

 

Family at home relaxing on carpet,asian family married couple little adorable son lying at cushion on warm floor play smiling feels happy hold stack hands, close up. Touching arms gesture

Positive Parenting แนวทางการเลี้ยงดูเชิงบวก “ลูกไม่ดื้อเมื่อผู้ใหญ่ให้เกียรติ”

ปัจจุบัน หลาย ๆ บ้านหลีกเลี่ยงการเลี้ยงดูแบบบังคับขู่เข็นลูก เพราะหลาย ๆ ครั้งอาจเป็นการสร้างบาดแผลในใจให้เด็กโตไปเป็นคนขาดความมั่นใจ “ความต้องการพื้นฐานของเด็กคือ ความเข้าใจและความไว้วางใจจากพ่อแม่ เมื่อเราคอยซัพพอร์ตทุกกิจกรรมในเชิงชี้แนะมากกว่าที่จะห้าม ลูกจะได้รับการกระตุ้นพัฒนาการในเชิงบวก เราเรียกว่า Positive Parenting เช่น เมื่อลูกดื้อไม่ยอมไปอาบน้ำ เราทำข้อตกลงกับเขาว่า ‘อีก 10 นาทีเราไปอาบกันมั้ย หรือถ้าไปอาบตอนนี้ก็จะได้กลับมาเล่นต่ออีกนานเลยนะ’ การคุยกันด้วยความเข้าใจจะทำให้ลูกไว้วางใจและเคารพเรา ในทางตรงกันข้าม เมื่อสั่งว่าต้องไปเดี๋ยวนี้โดยไม่บอกเหตุผล ซึ่งเป็นเชิง Negative ลูกก็อาจมีพฤติกรรมต่อต้านและก้าวร้าวขึ้น” 

คุณหมอเล่าว่าการเลี้ยงแบบ Positive สามารถนำไปปรับใช้เพื่อไม่ให้ลูกติดมือถือติดหน้าจอด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นความกังวลของพ่อแม่จำนวนมาก “Positive Parenting รวมไปถึงการทำข้อตกลงกับลูกในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ลูกมีวินัย รู้จักอดทนและรับฟัง เช่น ตกลงกันเรื่องตารางในการเล่นมือถือหรือดูทีวี ทำให้ลูกเข้าใจว่าต้องเคารพกติกาที่วางไว้ เช่นเดียวกันการรักษาสัญญาของพ่อแม่ก็สำคัญมาก หากบอกลูกว่าเล่นมือถือวันละ 1-2 ชั่วโมง เมื่อใกล้ครบเวลาควรเตือนลูกก่อนเพื่อให้เขาได้เตรียมความพร้อม เมื่อถึงเวลาครบแล้ว หรือถ้าลูกช่วยงานบ้านแล้วจะได้รางวัล ควรทำให้ได้ตามที่เราตกลงกับลูกไว้ เพื่อให้ลูกไว้ใจเรา สิ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความมั่นคงทางอารมณ์” พญ. วรรัตน์ โกวิทจินดาชัย กล่าวทิ้งท้าย

ศูนย์สุตินรีเวชและศูนย์กุมารเวช โรงพยาบาลวิมุต มอบบริการการดูแลที่ครอบคลุมสำหรับทั้งแม่และเด็ก ตั้งแต่การตรวจสุขภาพเช็คความพร้อมเพื่อเตรียมมีลูก การดูแลคุณแม่ในช่วงตั้งครรภ์และการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของคุณแม่หลังคลอด พร้อมติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ทั้งยังพร้อมให้คำปรึกษาเกี่ยวกับพัฒนาการที่เหมาะสมของเด็ก ด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ มาช่วยดูแลรักษาคุณแม่ คุณลูก และทุกคนในครอบครัวอย่างตรงจุดและครบวงจร นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการรักษาที่ทันสมัยมาดูแลทุกคนในครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างสรรค์ “อีกระดับของการรักษาด้วยความใส่ใจ” ผู้สนใจบริการของโรงพยาบาลวิมุต สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.vimut.com เฟซบุ๊ก:www.facebook.com/vimuthospital อินสตาแกรม: vimut_hospital LINE:@vimuthospital TikTok: @vimuthospital  YouTube: www.youtube.com/c/ViMUTHospital หรือติดต่อที่ โทร. 02-079-0000

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *