web analytics

ติดต่อเรา

15 นวัตกรจิ๋ว ตะลุยเวิร์กชอป “คิด(ส์) กระหึ่มฟาร์ม” ในโครงการ ฮอนด้า ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ 2020

กว่า 16,732 ผลงานสิ่งประดิษฐ์ไอเดียสร้างสรรค์จากน้อง ๆ ระดับชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศที่เข้าร่วมแข่งขันในโครงการ “ฮอนด้า ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ 2020” โครงการที่ส่งเสริมและสนับสนุนความฝันและจินตนาการของน้อง ๆ เยาวชน ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ขับเคี่ยวจนเหลือผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวน 15 คนสุดท้าย เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอป “Super Idea…Super Camp : คิด(ส์) กระหึ่มฟาร์ม” ในการเตรียมความพร้อม เสริมสร้างทักษะและปลุกพลังความคิดสร้างสรรค์ ณ RES Q FARM ฟาร์มท่องเที่ยวเชิงเกษตร ก่อนที่น้อง ๆ ทั้ง 15 คน จะเข้าสู่การแข่งขันในรอบสุดท้าย ในการนำเสนอผลงานต่อหน้าคณะกรรมการ ณ ศูนย์ฝึกอบรม บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ในวันที่ 19 ธันวาคม 2563 เพื่อชิงโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยทุนการศึกษา และโอกาสในการเดินทางไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์กับเยาวชนชาวญี่ปุ่น ณ ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม 2564*

สำหรับกิจกรรมเวิร์กชอป “Super Idea…Super Camp : คิด(ส์) กระหึ่มฟาร์ม” จัดขึ้นในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2563 โดยเริ่มกิจกรรม ณ ศูนย์ฝึกอบรม บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) โดยน้อง ๆ ทั้ง 15 คน ได้เข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการสนุก ๆ และเกมละลายพฤติกรรม ทำให้น้อง ๆ ได้มีโอกาสทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ และยังเป็นการช่วยกระตุ้นความกล้าแสดงออก ก่อนที่จะออกเดินทางไปยัง RES Q FARM ฟาร์มท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่บริหารจัดการพลังงานหมุนเวียนภายในจนทำให้มีค่าไฟศูนย์บาท โดยน้อง ๆ ได้เรียนรู้เรื่องพลังงานไฟฟ้าที่ทำให้สิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เคลื่อนไหว จากนั้นสนุกสนานกันต่อกับกิจกรรม Walk rally เพื่อค้นหาชิ้นส่วนของสิ่งประดิษฐ์ที่ซ่อนอยู่ในแต่ละสถานที่ ทั้งโรงเรือนปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ โรงเพาะเห็ด แผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งทำให้น้อง ๆ ได้เรียนรู้ธรรมชาติอย่างใกล้ชิด ก่อนที่จะพักทานอาหารกลางวันที่ห่อด้วยใบไม้ ซึ่งเป็นการช่วยลดขยะ และปลูกจิตสำนึกการรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับน้อง ๆ อีกด้วย

 

บรรยากาศน้อง ๆ โครงการ ฮอนด้า ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์ 2020 ณ RES Q FARM ฟาร์มท่องเที่ยวเชิงเกษตร

 

ทานอาหารเที่ยงที่ห่อด้วยใบไม้ ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ง่าย

 

หลังจากอิ่มท้องเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้เวลาเพลิดเพลินกับกิจกรรม “การเคลื่อนไหวและกลไกสุดอัศจรรย์” จากทีม Mad Science โดยน้อง ๆ ได้ทดลองประดิษฐ์โซลาร์ทอย ซึ่งเป็นของเล่นจากแผงสุริยะ เพื่อเรียนรู้การเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นพลังงานไฟฟ้า จากนั้นจุดประกายไอเดียสร้างสรรค์กันต่อกับกิจกรรม “ศิลปะและการประดิษฐ์” โดยครูอ่ำ-อนุรักษ์ สุขนันทศักดิ์ จากรายการ Art Club ที่มาสอนพื้นฐานการใช้สี การผสมสี รวมถึงการเลือกสีให้เหมาะกับสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังได้เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ได้ลองปฏิบัติจริงกับกิจกรรม “ต้นไม้สร้างสรรค์” ซึ่งเป็นการนำวัสดุเหลือใช้ อาทิ กล่องลังและของเล่นเก่ามาสร้างสรรค์เป็นต้นไม้ตามจินตนาการของตนเอง ปิดท้ายด้วยการมอบประกาศนียบัตรให้กับน้อง ๆ ทั้ง 15 คน

 

น้อง ๆ สนุกไปกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จากทีม Mad Science
พร้อมฝึกฝนทักษะการสังเกต การตั้งสมมติฐาน การทดลอง และการสรุปผล

 

กิจกรรมศิลปะและการประดิษฐ์ โดยครูอ่ำ-อนุรักษ์ สุขนันทศักดิ์ จากรายการ Art Club

 

โบ้ – นายวีระ สรแสดง วิทยากรจาก Res-Q Farm กล่าวว่า “ฟาร์มแห่งนี้เกิดจากพื้นที่ไม่มีแหล่งน้ำและอยู่ต่ำกว่าถนน เราได้นำฟันเฟืองท้ายรถไถนามาเป็นกังหันน้ำ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและปั๊มน้ำ รวมทั้งเปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ที่เรียกได้ว่าเป็นการสร้างจินตนาการบนพื้นฐานของสิ่งที่คนอื่นคิดว่าไม่สามารถเป็นจริงได้ ซึ่งเชื่อว่าน้อง ๆ จะสามารถนำไปต่อยอดความฝันและจินตนาการให้เป็นจริงขึ้นมาได้ โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กไทยนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และภูมิปัญญามาผนึกรวมกัน อยากให้จัดต่อไปเรื่อย ๆ และอยากขอบคุณแทนคนไทยทั้งประเทศด้วยครับ”

น้องเวนดี้ ด.ญ.ซิโม่ หยาง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนนานาชาติวารีเชียงใหม่ กล่าวว่า “วันนี้ได้มาที่ฟาร์ม และรู้สึกสนุกมาก ๆ สิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนี้คือ การใช้พลังงานหมุนเวียนจากลม น้ำ และแสงอาทิตย์ โดยกังหันลมอันใหญ่ได้รับพลังงานจากน้ำ พืชต่าง ๆ ก็ปลูกและเติบโตจากน้ำ หนูคิดว่าจะสามารถนำเอาแนวคิดนี้ไปปรับใช้กับงานสิ่งประดิษฐ์ของตัวเองได้ค่ะ”

น้องโฟร์ไนน์ ด.ช.จิรัฎฐ์ ไทยทวีไพศาล ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย “ปกติชาวสวนจะปลูกพืชด้วยดิน แต่ฟาร์มแห่งนี้ สามารถปลูกพืชด้วยน้ำหรือในโดมใต้น้ำได้ด้วย นอกจากนี้ ยังใช้แสงแดด 50% กับ 100% โดยที่จะใช้เป็นผ้าสีดำวางสลับกัน รวมทั้งใช้แสงแดดทำให้กังหันหมุนได้ในตอนกลางวัน และใช้ลมหมุนในตอนกลางคืนได้ด้วย ซึ่งผมคิดว่าจะสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ในวันนี้ไปปรับปรุง แก้ไขสิ่งประดิษฐ์ของผม นั่นคือ ลำแสงตัดสิ่งของขนาดพกพา เช่น การใช้แผงโซลาร์เซลล์เพิ่มลงไป เพื่อทำให้ประหยัดไฟฟ้ามากขึ้น เจอกันรอบชิงชนะเลิศนะครับ”

ทั้งนี้ น้อง ๆ ผู้ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศทั้ง 15 คน จะได้รับทุนสนับสนุนในการสร้างสรรค์แบบจำลองผลงานสิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำเสนอต่อคณะกรรมการและสาธารณชนในรอบชิงชนะเลิศ เพื่อชิงรางวัลโล่พระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท จำนวน 1 รางวัล และรางวัลรองชนะเลิศอีก 5 รางวัล รวมทั้งหมด 6 รางวัล นอกจากนี้ โครงการฯ ยังจัดให้มีรางวัล “ครูผู้สร้างแรงบันดาลใจ” จำนวน 2 รางวัล สำหรับครูที่ปรึกษาและมีส่วนร่วมในการกระตุ้น ผลักดัน และสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ แนวคิด รวมทั้งส่งเสริมจินตนาการให้กับเยาวชน โดยทั้งหมดจะได้รับโอกาสการร่วมเดินทางไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์กับเยาวชน
ชาวญี่ปุ่น ณ ประเทศญี่ปุ่น* ในเดือนมีนาคม 2564 ต่อไป

*เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Covid-19 อาจมีการเปลี่ยนแปลงรางวัลทัศนศึกษา ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นทุนการศึกษาในภายหลัง

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *