web analytics

ติดต่อเรา

“เที่ยวตัวปลิว…ชิลอีสาน” กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยว 20 จังหวัดอีสานอย่างต่อเนื่อง

นายสมชาย ชมภูน้อย ผู้อำนวยการภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นประธานในพิธีเปิดตัวกิจกรรมแคมเปญ “เที่ยวตัวปลิว…ชิลอีสาน” ของ ททท. ภูมิภาคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานพันธมิตรและภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวสู่ภาคอีสาน ภายใต้แนวคิด “เที่ยวอีสาน ทำเรื่องยากให้ง่าย สะดวก สบาย และประทับใจ กับนักท่องเที่ยว” โดยนักท่องเที่ยวสามารถสแกน QR Code เพื่อรับข้อมูลข่าวสารเส้นทางท่องเที่ยวผ่านโทรศัพท์มือถือ ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลเกี่ยวกับที่พัก ร้านอาหาร บริษัทรถเช่า และบริษัทไปรษณีย์ส่งของ จากป้ายเจแฟก (J-Flag) ในบริเวณสนามบิน ทั้ง 8 แห่งในภาคอีสาน ส่งเสริมการท่องเที่ยวครอบคลุมพื้นที่ 20 จังหวัดภาคอีสาน อันได้แก่สนามบิน อุดรธานี อุบลราชธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ เลย สกลนคร และนครพนม ผ่านป้ายเด้ง (Wobbler) ซึ่งติดตั้งตามจุดให้บริการของพันธมิตรต่างๆ อันเป็นการบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว (One Stop Service) สร้างความสะดวก สบาย ให้แก่นักท่องเที่ยวต่อไปอย่างยั่งยืน

นายสมชาย ชมภูน้อย กล่าวว่า กิจกรรมแคมเปญ “เที่ยวตัวปลิว…ชิลอีสาน” ครั้งนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในภาคอีสาน นับเป็นก้าวใหม่ต่อไปในโอกาสครบรอบ 60 ปี ททท. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการบูรณาการการทำงาน ททท.ภาคอีสานทุกสำนักงาน กับพันธมิตรภาคีเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยว และอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางท่องเที่ยวภายในภาคอีสาน เพื่อทำให้การเดินทางท่องเที่ยวในอีสานเป็นเรื่องง่ายๆ ผ่าน Online และโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถจัดการเดินทางด้วยตนเองได้ เพียงแค่สแกน QR Code จากป้ายเจแฟกในบริเวณสนามบินและป้ายเด้งในจุดให้บริการของพันธมิตรต่าง ๆ เมื่อเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทางที่จะท่องเที่ยว เพื่อรับข้อมูลแนะนำตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยว สิ่งอำนวยความสะดวกการให้บริการ เช่น ที่พักสะอาด ร้านอาหารอร่อย แหล่งท่องเที่ยวและแหล่งช้อปปิ้งที่น่าสนใจ บริษัทรถเช่าและบริษัทไปรษณีย์ Kerry Express ส่งของในแต่ละพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงสนามบิน นอกจากนี้ ททท. ยังมีแผนการที่จะขยายจุดติดตั้ง QR Code เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกสบายให้แก่นักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

กิจกรรมดังกล่าวนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางสนับสนุนส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวชาวไทยไปสู่พื้นที่เมืองรอง ท่องเที่ยวชนบท สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองของ ททท. รวมทั้ง สร้างการรับรู้ภาพลักษณ์ของภาคอีสานในมิติใหม่ โดยเจาะลึกเรื่องสไตล์และความรู้สึกการเที่ยวแบบเท่ ๆ เชื่อมโยงกับวิถีการกินอาหารถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ภายใต้แนวคิด “More Gastronomy Cool อีหลี” ที่ผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาชาวบ้านกับ ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่สอดรับแคมเปญ “Cool Isan” ของ ททท.ภาคอีสาน พร้อมชูจุดขายท่องเที่ยวอีสานเป็น Theme ในแต่ละเดือนเพื่อส่งเสริมการตลาดท่องเที่ยวผนวกกับ Event Marketing ในเชิงการตลาดและประชาสัมพันธ์กระตุ้นการท่องเที่ยวทำให้เกิดการเดินทางในภาคอีสานมุมมองใหม่ๆที่ผู้คนมองข้าม ทำให้เที่ยวอีสานรู้สึกเที่ยวได้ง่าย สะดวก สบาย และประทับใจ

Theme กิจกรรมในแต่ละเดือนตลอดปี 2563

เดือนมกราคม #เที่ยวอีสานโฉมใหม่ : Modern Isan
เดือนกุมภาพันธ์ #เที่ยวอีสานสวยทุกที่เท่ทุกสไตล์
เดือนมีนาคม #เที่ยวอีสานCOOLอีหลี
เดือนเมษายน #เที่ยวอีสานแบบCOOLคลู
เดือนพฤษภาคม #อีสานเขียวเที่ยวหน้าฝน
เดือนมิถุนายน #อีสานเขียวเที่ยวทะเลหมอกหน้าฝน
เดือนกรกฎาคม #อีสานเขียวเที่ยวค้นหาความสุข
เดือนสิงหาคม #อีสานเขียวเที่ยวเส้นทางสายไหม
เดือนกันยายน #อีสานเขียวประชุมเที่ยวเรื่องเดียวกัน
เดือนตุลาคม #เที่ยวอีสานปลายฝนต้นหนาว
เดือนพฤศจิกายน #เที่ยวอีสานทะเลหมอกหน้าหนาว
เดือนธันวาคม #เที่ยวอีสานทะเลดอกไม้หน้าหนาว

นอกจากนี้ ททท.ภาคอีสาน ยังจับมือกับพันธมิตรภาคีเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยวจัดทัวร์เส้นทางนำร่องและกิจกรรมกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในหลายโครงการ หลายกิจกรรม พร้อมร่วม DMC – Destination Management Company และ ททท.สำนักงานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ในภาคอีสานนำเสนอโปรแกรมทัวร์และให้คำปรึกษา อำนวยความสะดวกจัดทัวร์เที่ยวอีสานเพิ่มคุณค่าและมูลค่าน่าสนใจกับการท่องเที่ยวอีสานจังหวัดติดชายแดนเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ยกตัวอย่างเช่น เที่ยวเลยเชื่อมโยงแขวงหลวงพระบาง (ลาว) เที่ยวอุดรธานี+หนองคายเชื่อมโยงเวียงจันทน์ (ลาว) เที่ยวนครพนมเชื่อมโยงแขวงท่าแขก คำม่วน(ลาว) เที่ยวสกลนคร+มุกดารหารเชื่อมโยงสะหวันนะเขต (ลาว)+เวียดนาม เที่ยวอุบลราชธานีเชื่อมโยงจำปาศักดิ์ ลาวใต้+กัมพูชา เที่ยวสุรินทร์+ศรีสะเกษ+บุรีรัมย์เชื่อมโยงเสียมเรียบ (กัมพูชา) เป็นต้น

ททท.ภาคอีสาน คาดว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวจะสามารถกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวภายในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน เพิ่มมากขึ้น และกระจายตัวนักท่องเที่ยวสู่จังหวัดต่าง ๆในภาคอีสานได้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2563

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *