web analytics

ติดต่อเรา

นิปปอนเพนต์เดินหน้าโครงการ Protégé ปีที่ 5

นิปปอนเพนต์เดินหน้าโครงการ Protégé ปีที่ 5 มุ่งยกระดับวิชาชีพช่างพ่นซ่อมสีรถยนต์  ตั้งงบประมาณ 6 ล้านบาท สานต่อความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน  เพื่อช่วยผลักดันและผลิตช่างสีรถยนต์คุณภาพที่มีทักษะความเชี่ยวชาญตามมาตรฐานสากลให้เพียงพอต่อความต้องการในตลาดอาชีพนี้ที่ยังขาดแคลน  และสร้างหลักประกันด้านรายได้ที่มั่นคงในอาชีพที่เป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ

นายนพดล ศรีสินรุ่งเรือง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) จำกัด หน่วยธุรกิจสีพ่นซ่อมรถยนต์ เผยว่า “แม้ว่าปัจจุบันหลายหน่วยงานจะมีการนำเทคโนโลยีมาแทนที่มนุษย์ แต่ในสายงานอาชีพที่ใช้ทักษะยังคงเป็นที่ต้องการอย่างมาก  โดยเฉพาะวิชาชีพช่างพ่นซ่อมสีรถยนต์ที่ตลาดยังเปิดกว้างและมีความต้องการแรงงานอีกกว่า 30,000 คน เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจยานยนต์ของไทย  โครงการ “Protégéเป็นโครงการระยะยาวที่นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และให้ความสำคัญเทียบเท่าการพัฒนาเทคโนโลยีและสินค้า โดยตั้งเป้าจะผลิตช่างสีรถยนต์ให้เพียงพอต่อความต้องการในตลาดอาชีพนี้ที่ยังขาดแคลน โดยร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนให้การส่งเสริมองค์ความรู้ในหลากหลายกิจกรรมทั้งในระดับอาชีวศึกษา  และบุคคลทั่วไปในสายอาชีพ  โดยคาดหวังว่าจะพัฒนาช่างสีที่เป็นแรงงานเก่าให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญมากขึ้น ส่วนช่างสีรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะมีทักษะความเชี่ยวชาญตามมาตรฐานสากล มีหลักประกันด้านรายได้ที่มั่นคงในสายอาชีพเพราะช่างสีรถยนต์จะได้รับอัตราค่าจ้างวันละประมาณ  500 – 1,000  บาท ตามระดับความชำนาญซึ่งสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ  ซึ่งตลอด 4 ปีที่โครงการ Protégé  มีส่วนสนับสนุนและผลักดันอย่างจริงจัง ทำให้จากเดิมในปี พ.ศ. 2558  ที่มีสถาบันที่เปิดสอนสาขาวิชางานตัวถังและสีรถยนต์เพียง 12 วิทยาลัย  ปัจจุบันมีกว่า 60  วิทยาลัย ชี้ให้เห็นแนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มงานอาชีพตัวถังและสีรถยนต์ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ และสนองตอบนโยบายประเทศไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0”

การดำเนินกิจกรรมภายใต้โครงการ Protégé ปีที่ 5  ของนิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) ได้แก่

  • ร่วมมือกับสำนักงานกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) สนับสนุนผลิตภัณฑ์มาตรฐานที่ใช้สำหรับการซ่อมสีรถยนต์ พร้อมอุปกรณ์ให้กับวิทยาลัยในสังกัด สอศ.ที่เปิดสอนสาขาวิชางานตัวถังและสี  เพื่อเป็นต้นแบบในการทำศูนย์ซ่อมมาตรฐานในสถานศึกษา  พร้อมจัดอบรมให้บุคลากรอาชีวศึกษา โดยครึ่งปีแรกนี้จัดอบรมไปแล้ว 16 รุ่น จำนวน  400  คนจากที่ตั้งเป้าไว้ 1,500 คน
  • ร่วมกับสำนักพัฒนาสมรรถนะครูและบุคลากรอาชีวศึกษา จัดอบรมหลักสูตร “พัฒนาทักษะวิชาชีพและการสอนภาคปฎิบัติเทคโนโลยีการซ่อมสีรถยนต์ระบบอัจฉริยะ (Quick Service) สำหรับตัวถังและสีรถยนต์” โดยจัดอบรมไปแล้ว  4  รุ่น
  • ร่วมกับคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา(อ.กรอ.อศ.) กลุ่มอาชีพตัวถังและสี (Body and Paint) จัดการแข่งขันทักษะฝีมือช่างซ่อมสีรถยนต์ระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.)และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ(ปวช.) ซึ่งจะเป็นต้นแบบของการจัดการแข่งขันทักษะฝีมือช่างซ่อมสีรถยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ระดับจังหวัด และ ระดับชาติ ในงบประมาณปี 2563 ต่อไป
  • ร่วมมือสนับสนุนโครงการไตรภาคี โครงการความร่วมมือระหว่างวิริยะประกันภัย ชมรมศูนย์ซ่อมมาตรฐานวิริยะประกันภัยภาค 6 และวิทยาลัยการอาชีพ ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 6 เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากวิทยาลัยการอาชีพทั่วประเทศได้ฝึกงานในสายวิชาชีพที่มีมาตรฐาน โดยนิปปอนเพนต์ให้การสนับสนุนวิทยากรครูฝึก ผลิตภัณฑ์สีพร้อมวัสดุอื่น ๆ ในการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 1 เดือน ซึ่งมีการฝึกผ่านไปแล้ว 6 รุ่น รวม 140 คน  หลังการอบรมนักศึกษาจะเข้าทำงานในอู่ซ่อมสีรถยนต์ในเครือประกันวิริยะที่มีการใช้ผลิตภัณฑ์สีนิปปอน วี-ซีรี่ย์ (V-Series)
  • สนับสนุนการฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมความพร้อมก่อนออกฝึกอาชีพร่วมกับชมรมวิชาชีพยานยนต์ในสถานประกอบการสาขาสีรถยนต์ระบบทวิภาคี ซึ่งจะเน้นทักษะฝีมืองานการเตรียมพื้นและพ่นสีให้กับนักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่ลงนามความร่วมมือกับนิปปอนเพนต์และชมรมวิชาชีพยานยนต์ และในภาคการศึกษาฝึกอาชีพ ซึ่งตั้งเป้าปีนี้กว่า 120  คน
  • ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างสีรถยนต์ในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) เพิ่มอีก 1 แห่งในปีนี้ที่จังหวัดพัทลุง จากเดิมที่มีอยู่ 12 แห่ง พร้อมส่งวิทยากรไปให้การอบรมแก่ผู้สนใจ

“นิปปอนเพนต์ (ประเทศไทย) ยินดีส่งผู้เชี่ยวชาญไปฝึกอบรมให้กับพนักงานในหน่วยงานที่แจ้งความประสงค์มา  ถือเป็นการช่วยสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมความรู้และทักษะวิชาชีพช่างพ่นซ่อมสีรถยนต์ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล  เนื่องจากอาชีพนี้หากมีใจรัก อดทนและพร้อมเรียนรู้เทคนิคใหม่  สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ระดับที่สูงขึ้นในฐานะช่างเทคนิคขั้นสูง ที่ปรึกษางานซ่อมตัวถังและสี หรือผู้ชำนาญงานพิเศษยานยนต์เฉพาะกลุ่ม เพราะโอกาสความสำเร็จในวิชาชีพนี้ยังเปิดกว้างอีกมาก                นายนพดลกล่าวทิ้งท้าย

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *