web analytics

ติดต่อเรา

‘STUDENT MARKET ตลาดนัดวัยเรียน’ เปลี่ยนไอเดียเป็นค่าขนม

เพราะ ‘การเรียนรู้’ ของเด็ก และเยาวชนที่ดี หนึ่งในนั้นมักจะได้มาจากการ ‘ลงมือทำ’ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘LEARNING BY DOING’ ด้วยเหตุนี้ โรบินสัน จึงได้สร้างสรรค์กิจกรรมดี ๆ อย่าง  ‘STUDENT MARKET ตลาดนัดวัยเรียน’ ภายใต้แคมเปญ ‘ROBINSON BACK TO SCHOOL’ ขึ้น กับการแบ่งปันพื้นที่ภายในศูนย์การค้า โรบินสันไลฟ์สไตล์ 22 สาขาทั่วประเทศ สู่การเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่เป็นเสมือนสนามการค้า ที่เปิดโอกาสให้น้อง ๆ วัยเรียน ที่มีอายุระหว่าง 10 – 18 ปี มาเรียนรู้ ฝึกทักษะการทำธุรกิจค้าขาย ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง สวมบทบาทการเป็นพ่อค้า – แม่ค้ารุ่นเล็ก ‘เปลี่ยนไอเดียเป็นค่าขนม’ ในภาคการศึกษาใหม่ ซึ่งประโยชน์ที่โรบินสันมุ่งหวังให้น้องๆ ได้เรียนรู้จากการลงมือทำในกิจกรรมครั้งนี้ ที่นอกจากจะทำให้น้อง ๆ ได้รู้จักการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และรู้จักคุณค่าของเงินแล้ว เป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ ต้องการให้น้อง ๆ นำความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียน และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเพื่อเป็นแนวทางในการสร้างอาชีพของตนเองในอนาคตต่อไป
​ทั้งนี้ กิจกรรม ‘STUDENT MARKET ตลาดนัดวัยเรียน’ ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากน้อง ๆ โดยมีการนำหลากหลายไอเดียในรูปแบบของสินค้า ทั้งที่เป็นสินค้าที่มาจากไอเดียความชอบของตัวเอง สินค้าจากธุรกิจครอบครัว สินค้าจากสถานศึกษา ทั้งอุปกรณ์การเรียน เสื้อผ้า เครื่องประดับ สินค้ามือสอง อาหารและเครื่องดื่ม ฯลฯ มาให้เลือกสรรมากมาย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก ทั้งจากพ่อค้า – แม่ค้ารุ่นเล็ก ที่มีความตั้งใจ และกระตือรือร้นในการขายด้วยใบหน้าที่เปื้อนยิ้มตลอดเวลา และพี่ๆ นักช้อปที่มาช่วยอุดหนุนกันอย่างหนาตา เรียกได้ว่านอกจากต่างฝ่ายจะได้ค่าขนม และของที่ถูกใจแล้ว สิ่งที่ได้มากไปกว่านั้นคือความสุข และความประทับใจ พกกลับบ้านกันอย่างเต็มที่
งานนี้มีตัวแทนน้อง ๆ พ่อค้า – แม่ค้า รุ่นเล็ก มาร่วมแชร์ความรู้สึก และประสบการณ์ที่ได้จากกิจกรรม ‘STUDENT MARKET ตลาดนัดวัยเรียน’ อย่างน่าสนใจ
ด.ญ. พรับพราภรณ์ เพชรพลอย อายุ 10 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดดอนเมือง (ทหารอากาศอุทิศ) เจ้าของร้าน ‘น้องพรีม กิ๊ฟช็อป และอุปกรณ์เครื่องเขียน’ เล่าว่า “หนูชอบขายของค่ะ เพราะเคยไปขายของกับแม่ที่ตลาดนัด พอรู้ว่ามีงานนี้จากเพื่อน ๆ ก็เลยไปขอแม่มาขาย เพราะใกล้จะเปิดเทอมแล้ว เผื่อจะได้มีเงินไปช่วยแม่จ่ายค่าเทอมค่ะ ซึ่งของที่หนูนำมาขายคือพวกอุปกรณ์เครื่องเขียนอย่าง ดินสอ ปากกา ยางลบ กระเป๋า ลายน่ารัก ๆ มีคนมาอุดหนุนสินค้าหนูเยอะเลยค่ะ ทำให้หนูรู้สึกสนุกกับการขายของในงานนี้มาก เพราะเป็นงานแรกที่แม่ปล่อยให้หนูได้ขายของเอง ได้พูด ได้เชียร์ให้คนซื้อของ พอเขาซื้อหนูก็รู้สึกภูมิใจ และการขายของยังทำให้หนูได้ฝึกคิดเลขเวลาทอนเงินลูกค้า เอาไปใช้เวลาเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนได้ค่ะ”
ส่วน ตัวแทนเจ้าของร้านเครื่องดื่มชานมไข่มุกแสนอร่อย ‘3 ดริ้งค์ สเตชั่น’ ด.ช. จิรัฏฐ์ ใจหาญ อายุ 11 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนแพรกษาวิเทศศึกษา เล่าว่า “ผมกับพี่น้องอีก 2 คน เป็นลูกพี่ ลูกน้องกันครับ งานนี้พวกเรานำชานมไข่มุก ซึ่งเป็นของที่ที่บ้านขายอยู่แล้วมาขายครับ ที่มาขายงานนี้ได้เพราะคุณแม่ได้ข่าว ก็เลยมาบอกพวกผม ผมก็เลยชวนกันมาครับ เพราะผมคิดว่าช่วงนี้อากาศร้อนมาก ชานมไข่มุกเย็นๆ ต้องขายดีแน่ๆ การมาขายของในงานนี้ทำให้ผมรู้สึกว่าได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์จริง ๆ ได้ช่วยที่บ้านขายของ รู้จักและเห็นคุณค่าของเงินมากขึ้น ซึ่งเงินที่ได้ทั้งหมด พวกผมตั้งใจจะให้ที่บ้าน เพื่อจ่ายค่าเทอม และซื้ออุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นในเทอมใหม่ครับ”
​ปิดท้ายที่พี่ใหญ่ เจ้าของร้านดินประดิษฐ์ ‘เรนฟลาเวอร์’ ที่มีดีกรีรางวัลแชมป์ประติมากรรมลอยตัวระดับประเทศ อย่าง นางสาวพรรธิภา กลิ่นขจร อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  โรงเรียนโยธินบูรณะ เล่าว่า “สินค้าที่หนูนำมาขายในวันนี้เป็นสินค้าดินประดิษฐ์ที่ทำจากดินญี่ปุ่นค่ะ ซึ่งเป็นฝีมือของหนูเอง โดยหนูฝึกประดิษฐ์มาตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่งคุณแม่เป็นคนสอนค่ะ และเป็นธุรกิจหลักของที่บ้านด้วย ที่มาร่วมในงานนี้ได้เพราะคุณแม่เห็นว่าหนูมีประสบการณ์ในการประดิษฐ์แล้ว อยากให้ได้ประสบการณ์ในการขายด้วย ซึ่งหนูก็อยากที่จะเรียนรู้ด้วยและก็ไม่ผิดหวัง เพราะงานนี้ทำให้หนูได้พบเจอลูกค้าใหม่ ๆ ที่หลากหลายได้ใช้ทักษะการพูดคุย และแลกเปลี่ยนความรู้กับคน สนุก และประทับใจมากเลยค่ะ”

​โรบินสัน ยังมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเด็ก และเยาวชน ในทุก ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็น การศึกษา สุขอนามัย โภชนาการ เศรษฐกิจพอเพียง ฯลฯ โดยเน้นสร้าง ‘การเรียนรู้’ ให้แก่เด็ก และเยาวชนผ่าน ‘การลงมือทำ’ ในกิจกรรมดี ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังที่จะสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพให้แก่สังคม และประเทศชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสืบไปในอนาคต

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *