web analytics

ติดต่อเรา

มิชลิน’ และ ‘มาร์เกซ’ ทะยานฝ่าสภาพอากาศร้อนอบอ้าว คว้าแชมป์โมโตจีพี (MotoGP™) ครั้งแรกในไทย

มิชลินและทีมปฏิบัติการประจำพื้นที่ของแต่ละทีมแข่งต้องเผชิญกับสภาพสนามแข่งใหม่ที่ไม่คุ้นเคยมาก่อนในการแข่งขัน ‘พีทีที ไทยแลนด์ กรังด์ปรีซ์’ (PTT Thailand Grand Prix) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทย ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งต้องผจญกับสภาพอากาศที่ร้อนระอุซึ่งส่งผลต่อสภาพพื้นสนามแข่งอย่างมาก

มิชลินได้มีโอกาสเยือนสนามแข่งระยะทาง 4,554 เมตรของไทยแห่งนี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อทำการทดสอบรถแข่งก่อนเปิดฤดูกาลแข่งขัน ในเวลานั้นอุณหภูมิสนามแข่งอยู่ที่ 49 องศาเซลเซียส แต่ในวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันแข่งขันจริง อุณหภูมิกลับพุ่งสูงถึง 56 องศาเซลเซียส โดยไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเนื่องจากตามปกติช่วงเวลานี้ของปีเป็นช่วงฤดูมรสุมของไทยที่อุณหภูมิมักจะลดต่ำลง  มิชลินได้เลือกประเภทยางสำหรับใช้ในสนามแข่งเอาไว้ก่อนฤดูกาลแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้นภายใต้แนวความคิดดังกล่าวและตามกฎระเบียบที่กำหนด โดยเชื่อว่าจะเหมาะกับสนามแข่งแห่งนี้

เมื่ออุณหภูมิสนามแข่งสูง ศักยภาพของยางในการยึดเกาะพื้นสนามแข่งจะอยู่ในระดับต่ำมาก ส่งผลให้เกิดอาการล้อหมุนฟรี เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคของมิชลินจึงแนะนำให้บรรดานักบิดเลือกใช้ยาง ‘มิชลิน พาวเวอร์ สลิค’ (MICHELIN Power Slick) แบบเนื้อยางแข็ง (Hard) เป็นยางล้อหลัง ซึ่งนักบิดส่วนใหญ่เลือกใช้ยางรุ่นนี้ตามคำแนะนำ ยกเว้นแต่ ‘อเล็กซ์ เอสปาร์กาโร่’ (Aleix Espargaro) นักบิดทีม ‘อพริเลีย เรซซิ่ง ทีม เกรซินี’ (Aprilia Racing Team Gresini) ที่เลือกใช้ยางเนื้อนิ่ม (Soft)  นอกจากนี้ มีนักบิดจำนวนไม่มากนักที่เลือกใช้ยางเนื้อแข็งปานกลาง (Medium) เป็นยางล้อหน้า ขณะที่นักบิดส่วนใหญ่ที่เหลือเลือกใช้ยางเนื้อแข็ง ทั้งนี้ ในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งมีการแข่งทั้งหมด 26 รอบสนาม มีการเลือกใช้เนื้อยางรวมทั้งสิ้น 4 ประเภทจากทั้งหมด 6 ประเภท

‘มาร์ค มาร์เกซ’ (Marc Marquez) จากทีม ‘เรปโซล ฮอนด้า’ (Repsol Honda Team) ได้ออกตัวจากตำแหน่งหัวแถว หรือ Pole Position ในช่วงบ่ายของวัน และทะยานขึ้นเป็นผู้นำฝูงหลังผ่านการแข่งขันรอบแรก โดยครองตำแหน่งผู้นำในช่วง 4 รอบแรกของการแข่งขันก่อนที่ ‘วาเลนติโน่ รอสซี่’ (Valentino Rossi) นักบิดทีม ‘มูฟวี่สตาร์ ยามาฮ่า โมโตจีพี’ (Movistar Yamaha MotoGP) จะเบียดแซงขึ้นมาเป็นผู้นำและรักษาตำแหน่งผู้นำไว้ได้ถึง 6 รอบสนาม จากนั้น ‘อันเดรีย โดวิซิโอโซ’ (Andrea Dovizioso) นักบิดทีมดูคาติ (Ducati Team) ได้จังหวะเบียดแซงขึ้นมาเป็นผู้นำและพยายามรักษาระยะห่างด้วยการทำเวลาต่อรอบที่เร็วและควบคุมการขับขี่อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นมาร์เกซก็ไล่จี้ขึ้นมาและขับเคี่ยวกันอย่างสูสี ผลัดกันนำผลัดกันแซงในช่วง 2-3 รอบสุดท้ายให้ลุ้นระทึกอย่างน่าตื่นเต้น ก่อนที่มาร์เกซจะเบียดแซงหน้าในโค้งสุดท้ายจนคว้าแชมป์ได้สำเร็จ โดยเฉือนเอาชนะ ‘โดวิซิโอโซ’ ไปเพียง 0.115 วินาที ขณะที่อันดับ 3 เป็นของ ‘มาเวอริค บีญาเลส’ (Maverick Viñales) นักบิดทีม ‘มูฟวี่สตาร์ ยามาฮ่า โมโตจีพี’  ทำให้ตำแหน่ง 3 อันดับแรกเป็นของค่ายรถต่างกัน 3 ค่าย

ด้าน ‘รอสซี่’ คว้าอันดับ 4 ตามมาด้วย ‘โยฮันน์ ซาร์โก’ (Johann Zarco) จากทีม ‘มอนสเตอร์ ยามาฮ่า เทค 3’ (Monster Yamaha Tech 3) ในอันดับที่ 5 โดยเป็นนักบิดจากทีมอิสระคนแรกที่เข้าเส้นชัย (First Independent Rider), ‘อเล็กซ์ รินส์’ (Alex Rins) จากทีม ‘ซูซูกิ เอ็กซ์สตาร์’ (Team SUZUKI ECSTAR) อันดับ 6, ‘คาล ครัทช์โลว์’ (Cal Crutchlow) จากทีม ‘แอลซีอาร์ ฮอนด้า’ (LCR Honda) ปาดแซงหน้านักบิดที่ทำเวลาเร็วประจำสนาม ‘อัลวาโร เบาติสตา’ (Alvaro Bautista) จากทีม ‘แองเจิล เนียโต้’ (Angel Nieto Team) ขึ้นครองอันดับเจ็ด  ในขณะที่ ‘ดานิโล่ เปตรุซซี่’ (Danilo Petrucci) จากทีม ‘อัลมา พรามัค เรซซิ่ง’ (Alma Pramac Racing) เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 9  ตามมาด้วย ‘แจ็ค มิลเลอร์’ (Jack Miller) นักบิดเพื่อนร่วมทีม ที่ปิดท้ายติดอันดับ 1 ใน 10 คนแรกที่เข้าเส้นชัย

ยางมิชลินที่คัดสรรมาเป็นตัวเลือกสำหรับใช้เป็นยางล้อหลังในการแข่งขันครั้งนี้ได้รับการออกแบบขึ้นเป็นพิเศษสำหรับสนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต ที่จังหวัดบุรีรัมย์โดยเฉพาะ โดยยางล้อหน้าและหลังที่มีให้เลือกทั้ง 7 แบบ ซึ่งครอบคลุมยางล้อหลังเนื้อแข็งปานกลาง 2 แบบ ล้วนผ่านการทดลองและทดสอบโดยนักบิดส่วนใหญ่แล้ว แต่ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนจัดมากการเลือกใช้ยางเนื้อแข็งเป็นยางล้อหลังถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสอดคล้องกับคำแนะนำที่มิชลินให้กับบรรดานักบิดและทีมแข่ง การตัดสินใจครั้งนี้ก่อให้เกิดการประลองความเร็วที่น่าตื่นเต้นเร้าใจต่อหน้าผู้ชมจำนวน 100,245 คน ซึ่งอัดแน่นเต็มอัฒจันทร์ท่ามกลางบรรยากาศที่เต็มไปด้วยสีสันและความคึกคัก

หลังจากนี้ มิชลินและทีมปฏิบัติงานประจำพื้นที่เก็บรถข้างสนามของทีมแข่งในการแข่งขันโมโตจีพีครั้งนี้จะกลับประเทศที่เป็นฐานประจำการของตนเองก่อนออกเดินทางอีกครั้งเพื่อเข้าร่วมการแข่งขันระยะเวลา 3 สัปดาห์ในทวีปเอเชียที่ประเทศญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และมาเลเซีย ประเดิมด้วยรายการ ‘เจแปนีซ กรังด์ปรีซ์’ (Japanese Grand Prix) ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคมนี้

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *