web analytics

ติดต่อเรา

“หนังใหญ่วัดขนอน” ศิลปะไทยอันทรงคุณค่า มรดกวัฒนธรรมของคนไทย

หนังใหญ่วัดขนอน ได้มีการสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.5) ผู้ริเริ่มในการแกะสลักตัวหนังคือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม) เกิดปีวอก พ.ศ.2391 มรณภาพเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2485 รวมอายุได้ 95 ปี ท่านมีความคิดที่จะสร้างหนังใหญ่ให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม จึงได้ชักชวน ครูอั๋ง ช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง มาร่วมกันสร้าง ชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด ปัจจุบันมีตัวหนัง 313 ตัว นับเป็นสมบัติวัดที่ได้ร่วมรักษาสืบทอดกันมาเป็นเพียงวัดเดียวที่มีมหรสพเป็นของวัด มีตัวหนัง และ คณะหนังใหญ่ที่สมบูรณ์อยู่ในความอุปถัมป์ของวัดสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้

“พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่ วัดขนอน” ต.สร้อยฟ้า อ.โพธาราม จ.ราชบุรี นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้าชมด้วยการเดินทาง ทั้งรถโดยสารและรถยนต์ส่วนตัว ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดนครปฐมเข้าสู่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี จากนั้นเลี้ยวขวาบริเวณสี่แยกอำเภอบางแพ ไปตามทางหลวงหมายเลข 3090 เข้าสู่อำเภอโพธาราม ข้ามสะพานแม่น้ำแม่กลอง แล้วเลี้ยวขวาไปตามเส้นทางหลวงหมายเลข 3089 ประมาณ 3 กิโลเมตร วัดขนอนตั้งอยู่ทางขวามือรถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารปรับอากาศของบริษัทโพธารามทัวร์ จำกัด ออกเดินทางจากสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 06.30-19.30 น. เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-17.30 น. (เปิดการแสดงหนังใหญ่ ณ โรงละครหนังใหญ่ ทุกวันเสาร์ เริ่ม 10.00)

ก่อนการแสดงจะต้องมีพิธีไหว้ครู วงดนตรีปี่พาทย์ จะบรรเลงโหมโรงขณะทำพิธีเรียกพิธีเบิกหน้าพระ ต่อจากนั้นจะเป็นการแสดงชุดเบิกโรงนิยมเล่นตอนจับลิงหัวค่ำ มีตัวหนังที่แสดงคือ ลิงขาวและลิงดำ ลิงดำชอบก่อความวุ่นวายและสร้างความเดือดร้อน ก่อการทะเลาะวิวาท ลิงขาวจะเป็นผู้คอยตักเตือน แต่ลิงดำไม่รับฟังคำสั่งสอนลิงขาวจึงจับลิงดำมัดและพาไปเฝ้าพระฤาษี พระฤาษีจึงตักเตือนสั่งสอนให้แก้ไขปรับปรุงตัวใหม่ และให้ลิงขาวแก้มัด ทั้งสองจึงอยู่เป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ซึ่งการเล่นเบิกโรงนี้เป็นการเรียกคนดู เพราะเสียงปี่พาทย์จะเร้าใจ เพลงเชิดทำให้เกิดความคึกคัก บทเจรจาที่ตลกทำให้เกิดความครึกครื้น ในขณะเดียวกันก็แฝงไปด้วยคำสอนข้อคิด คติธรรม นิยมแสดงเรื่อง รามเกียรติ์ ซึ่งจัดแสดงเป็นตอน ๆ

ลักษณะตัวหนังใหญ่ ส่วนมากทำจากหนังโค นำมาฉลุหรือสลักเป็นภาพตามตัวละครในเนื้อเรื่อง บางตัวสูง 2 เมตร กว้างเมตรเศษ แบ่งตามลักษณะท่าทาง บทบาท การกระทำ ธรรมชาติ ฯลฯ ได้ดังนี้ “หนังเจ้า” หรือ หนังครู เป็นตัวหนังที่ใช้ในการไหว้ครู มี 3 ตัว คือ พระฤาษี พระอิศวร หรือ พระนารายณ์ เรียกว่าพระแผลง เพราะเป็นภาพในท่า แผลงศร “หนังเฝ้า” หรือหนังไหว้ เป็นภาพหนังเดี่ยว หน้าเสี้ยว พนมมือใช้แสดงตอนเข้าเฝ้า “หนังคเนจร” หรือหนังเดิน เป็นภาพหนังเดี่ยว หน้าเสี้ยว อยู่ในท่าเดิน “หนังง่า” เป็นภาพหนังเดี่ยว หน้าเสี้ยว อยู่ในท่าต่อสู้เหาะแผลงศร
“หนังเมือง” เป็นหนังภาพเดี่ยวหรือหลายภาพอยู่ในหนังผืนเดียวกัน โดยมีปราสาท ราชวัง วิมาน พลับพลา ศาลา ตามเนื้อเรื่อง อยู่ในหนังผืนนั้นเรียกหนังพลับพลา “หนังปราสาทพูด” หนังปราสาทโลม หนังจับ หรือหนังรบ เป็นหนังที่มีภาพตัวละคร ตั้นแต่ 2 ตัวขึ้นไป ในหนังผืนเดียวกัน ส่วนใหญ่เป็นภาพตัวละครในการต่อสู้ “หนังเบ็ดเตล็ด” เป็นหนังลักษณะอื่น ที่ไม่จัดอยู่ในประเภทที่กล่าวมา แยกได้ดังนี้

หนังเดี่ยว เป็นภาพหนัง 2 ตัว ตัวหนึ่งพ่ายแพ้การต่อสู้และถูกจับมัด “หนังเขน” เป็นหนังที่เป็นไพร่พลของกองทัพ หนังเบ็ดเตล็ดอื่น ๆ ที่มีรูปร่างแปลกออกไป ลวดลายอันอ่อนช้อย และสีสัน ที่ปรากฎอยู่บนตัวหนังใหญ่ แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ไทยอันทรงคุณค่าอีกอย่างหนึ่ง ที่บรรพบุรุษไทยสร้างไว้ การสร้างตัวหนังแต่ละตัว ย่อมต้องมีความพากเพียรพยายาม

“วัดขนอน” มีส่วนสำคัญยิ่งต่อการอนุรักษ์หนังใหญ่ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทางวัดได้ร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในการนำหนังใหญ่วัดขนอนนี้ไปแสดงเผยแพร่ยังที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศมาแล้วหลายครั้ง ในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์อุปถัมภกมรดกไทย ทรงเห็นคุณค่าในการแสดงและศิลปะในตัวหนังใหญ่ ทรงมีพระราชดำริให้ทางวัดช่วยอนุรักษ์หนังใหญ่ทั้ง 313 ตัว และจัดทำหนังใหญ่ชุดใหม่ขึ้นแสดงแทน โดยมีมหาวิทยาลัยศิลปากรรับผิดชอบงานช่างจัดทำหนังใหญ่ทั้งหมด ได้นำหนังใหญ่ชุดใหม่ที่สร้างนี้ทูลเกล้าถวาย เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2538 ณ โรงละครแห่งชาติ และทรงพระราชทานให้ทางวัดขนอนนำมาใช้ในการแสดงต่อไป

ปัจจุบันนี้ ทางวัดได้จัดพิพิธภัณฑ์สถานแสดงนิทรรศการหนังใหญ่ เปิดให้ประชาชนและผู้สนใจเข้าร่วมชมศึกษา พร้อมทั้งการสาธิตการแสดงหนังใหญ่ตลอดจนการฝึกเยาวชนให้เรียนรู้และสืบทอดศิลปวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้ครบทุกกระบวนการ เพื่อสนองโครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สืบต่อไปและ หนังใหญ่วัดขนอน ได้รับรางวัลจากยูเนสโก คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมของยูเนสโกประกาศให้ “การสืบทอดและฟื้นฟูหนังใหญ่วัดขนอน” ได้รับรางวัลจากองค์กรการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) และได้รับการยกย่องให้เป็น 1 ใน 6 ชุมชนดีเด่นของโลกที่มีผลงานในการอนุรักษ์ฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม (The safeguarding of Intagible Cultural Heritage : ICH) โดยเมื่อวันที่ 8-11 มิถุนายน 2550 องค์กร ACCU (Asia – Pacific Cultural Centre for UNESCO) ได้จัดพิธีมอบเหรียญรางวัล เกียรติบัตรและการสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ระหว่างผู้แทนชุมชนต่าง ๆ ที่ได้รับรางวัลและบรรดาผู้เชี่ยวชาญทางวัฒนธรรมและคณะกรรมการของยูเนสโก ณ โรงแรมโตเกียวไดอิชิ เมืองซึรุโอกะ จังหวัดยามากาตะ ประเทศญี่ปุ่น ในวาระดังกล่าว พระครูพิทักษ์ศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดขนอน และคณะ เข้าร่วมงานและรับรางวัลดังกล่าว

กว่าคณะหนังใหญ่วัดขนอนจะเป็นที่รู้จักในปัจจุบัน ทางคณะล้วนเผชิญกับปัญหานานัปการ ทั้งความนิยมในการเล่นหนังใหญ่ที่นับวันจะซบเซาลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากการเข้ามาทดแทนของสื่อบันเทิงสมัยใหม่

#การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยภูมิภาคภาคกลาง #หนังใหญ่วัดขนอม

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *