web analytics

ติดต่อเรา

มิติใหม่ “การระดมเงินทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

ITD ร่วมกับ อังค์ถัด และ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัดการสัมมนาเรื่อง Regional Seminar on the Promotion of Bankable Sustainable Development Goal Projects 2018 ระหว่างวันที่ 30-31 พฤษภาคม 2561 ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ โดยมี นายพอล วาเชนดรอฟ หัวหน้าส่วนส่งเสริมการลงทุน อังค์ถัด ( UNCTAD ) ผู้แทนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) และดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล ผู้อำนวยการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ร่วมเปิดงาน

ตามรายงานการลงทุนโลก (World Investment Report) ของอังค์ถัดปี 2014 ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องใช้เงินทุนประมาณ 3.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ(trillion U$) ในการพัฒนาประเทศและเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติในปี 2030 แต่ในปัจจุบันแหล่งเงินทุนของภาครัฐและเอกชนที่มีอยู่ขณะนี้ในประเทศกำลังพัฒนา เมื่อรวมกันแล้วไม่เพียงพอ มีอยู่ประมาณ  1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (trillion U$) ขาดอีก 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (trillion U$) ซึ่งแปลว่าประเทศกำลังพัฒนาจะต้องหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม จึงเกิดคำถามว่าจะทำอย่างไรเพื่อหาเม็ดเงินลงทุนนี้มาสนับสนุนเป้าหมายดังกล่าว

นายพอล วาเชนดรอฟ

ในส่วนแนวทางในการระดมเงินทุนที่ผ่านมา ในรายงานการลงทุนโลก (World Investment Report) ล่าสุดปี 2017 ของอังค์ถัด พบว่าการลงทุนในอดีตส่วนใหญ่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผลการศึกษาของอังค์ถัดระบุว่า ตั้งแต่ปี 2010 มีการลงทุนเพียง 20% ที่ได้ประโยชน์จากมาตรการการอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน (Investment Facilitation) ขณะที่การลงทุนถึง 80% ได้ประโยชน์จากมาตรการการส่งเสริมการลงทุน (Investment Promotion) เช่น สิทธิประโยชน์การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือมาตรการปลอดภาษี เป็นต้น ซึ่งจะเน้นความต้องการของนักลงทุนเป็นหลัก และเกิดการแข่งขันสูงระหว่างประเทศกำลังพัฒนาที่จะยื่นข้อเสนอต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งได้เกิดปรากฎการณ์ที่นักวิชาการเรียกกันว่า “Race to the Bottom” หรือ การแข่งขันสู่ความตกต่ำสุด ที่ส่งผลต่อการเกิดความถดถอยของนโยบายส่งเสริมการลงทุนที่อาจสวนทางกับแผนพัฒนาประเทศในระยะยาว เกิดความไม่เป็นธรรมและเอารัดเอาเปรียบสังคม และความเหลื่อมล้ำ ขัดแย้งกับกฎหมายในประเทศ และพันธกรณีระหว่างประเทศ เช่น สิทธิด้านแรงงาน (Labour Rights) (ILO) สิทธิมนุษยชน (Human Rights) (UNGA) หรือ Paris Climate Change Agreement เป็นต้น ทั้งนี้จะลดอำนาจการต่อรองและความน่าเชื่อถือของประเทศในเวทีโลกในเรื่องของ Policy Integrity and International Reputation

ดร.กมลินทร์ พินิจภูวดล

การลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการพัฒนาในปัจจุบันเพื่อประโยชน์ในอนาคต ที่ต้องการการพัฒนาที่คำนึงถึงคุณภาพสังคมและการดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศไทยที่ระบุเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนไว้ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ด้วย  ปัจจุบันการลงทุนการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นกุญแจที่สำคัญเพื่อบรรลุ  17 เป้าหมาย เพื่อการพัฒนาที่อย่างยั่งยืน ปี 2030 (Sustainable Development Goals : SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nation : UN ) ที่มีผลตั้งแต่ ปี 2016 โดยการประชุมสหประชาชาติเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ อังค์ถัด (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) เป็นหน่วยงานหลักในการผลักดันการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นการส่งเสริมนโยบายใหม่ ๆ ด้านการลงทุน และการปรับเปลี่ยนบริบทของหน่วยงานที่สนับสนุนการลงทุนให้คำนึงถึงเป้าหมายของการลงทุน (Goal based Investment)

สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา จึงได้กำหนดการจัดงานการสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง Regional Seminar on the Promotion of Bankable Sustainable Development Goal Projects 2018 ร่วมกับอังค์ถัดและบีโอไอ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ยุทธศาสตร์ แนวทางปฎิบัติ ความคืบหน้า และประเด็นอุบัติใหม่ในเรื่องการปฏิรูปนโยบายการลงทุนยุคใหม่ ภายใต้กรอบการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของอังค์ถัด ตามแนวทาง Bankable Sustainable Investment และ Responsible Investment ที่อยู่ภายใต้บทบาทของหน่วยงานการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ (Investment Promotion Agency: IPA) และหน่วยงานการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ (Outward Investment Agency: OIA)  ตลอดจนการแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากหน่วยงานด้านการส่งเสริมการลงทุนจาก 19 ประเทศในเอเชียและแปซิฟิก หน่วยงานระดับภูมิภาค เช่น อาเซียน (ASEAN) ,ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB)  หน่วยงานสหประชาชาติ  WAIPA : World Association of Investment Promotion Agencies และหน่วยงานภาคเอกชน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อผู้บริหารภาครัฐในระดับนโยบายมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปนโยบายการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *