web analytics

ติดต่อเรา

มิตรผล เปิดโครงการ โมเดิร์นฟาร์ม ดิ คอมพาส

ทุกวันนี้ สังคมไทยกำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น และอัตราการเกิดที่ลดลง ประกอบกับแรงงานรุ่นใหม่จำนวนมากหันไปทำงานในเมืองหรือในภาคอุตสาหกรรม เพราะยังคงจดจำภาพในวิถีการทำเกษตรแบบเดิมๆ ว่าเป็นอาชีพที่งานหนัก เหนื่อย และได้รับค่าตอบแทนไม่คุ้มค่า น้อยคนนักที่จะอยู่ช่วยครอบครัวสานต่องานด้านเกษตร ประเด็นเหล่านี้ เมื่อนานวันเข้า จึงส่งผลให้เกิดเป็นปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของไทยตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ในขณะที่ประชากรกว่า 70% ของประเทศไทย ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก และรายได้จากภาคเกษตรนี้ คิดเป็นประมาณ 10% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) แสดงให้เห็นว่าภาคเกษตรกรรมไทยยังสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้อีกมาก หากเราช่วยกันขับเคลื่อน

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่พัฒนาและก้าวล้ำมากขึ้น ได้เริ่มเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาต่างๆ รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมการเกษตร โดยเทคโนโลยีสามารถเข้ามาช่วยบริหารจัดการการทำไร่ ให้ใช้แรงงานน้อยแต่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น ในขณะที่ต้นทุนการผลิตก็ลดลง ผ่านการทำเกษตรสมัยใหม่ โดยมีเป้าหมายให้เกษตรกรไทยสามารถบริหารจัดการการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นับว่าเป็นการพลิกโฉมวงการเกษตรแบบดั้งเดิมของไทยเลยทีเดียว

เมื่อเร็วๆ นี้ คุณบรรเทิง  ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มมิตรผล ผู้บริหารที่เปี่ยมด้วยประสบการณ์ในการบริหารจัดการไร่อ้อยและดูแลชาวไร่อ้อย ได้ริเริ่มกิจกรรมที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจด้านการเกษตรให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ภายใต้ชื่อ “โมเดิร์นฟาร์ม ดิ คอมพาส” (ModernFarm the Compass)
ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานมอบทุนการศึกษาให้แก่น้องๆ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประจำปี 2561 เพื่อสนับสนุนการศึกษาให้กับน้องๆ นักศึกษาอย่างครบถ้วน ทั้งด้านทุนทรัพย์และความรู้ พร้อมทั้งจุดประกายให้น้องๆ เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในภาคเกษตรของไทย และทั่วโลก รวมทั้งวิธีการทำเกษตรสมัยใหม่แบบ มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม ผ่านกิจกรรมดังกล่าว

นายบรรเทิง  ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มมิตรผล กล่าวถึงกิจกรรมในครั้งนี้ว่า “กลุ่มมิตรผล ได้พัฒนาเรื่อง Smart Farming มากว่า 5 ปี และได้ถ่ายทอดแนวทางนี้สู่ชาวไร่อ้อย ภายใต้ชื่อของการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบ“มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้และการบริหารจัดการไร่อ้อยมาตรฐานระดับโลกจากหลายประเทศเข้ามาปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศไทย โดยเน้นเรื่องการบูรณาการเทคโนโลยี ร่วมกับการใช้เครื่องจักรและการบริหารจัดการไร่ ทำให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้แรงงานน้อย ลดต้นทุน แต่ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  สำหรับกิจกรรมในครั้งนี้ เราตั้งใจที่จะเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงในแวดวงเกษตรกรรมของของไทยและโลก รวมถึงนวัตกรรมด้านการเกษตรที่จะช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้น้องๆ เห็นว่าอาชีพเกษตรกรนั้นน่าภูมิใจและไม่ได้ลำบากเหมือนสมัยก่อน”

“เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรรุ่นใหม่สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ เพื่อสร้างผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม ในขณะเดียวกันก็มีความมั่นใจในความสำคัญและความก้าวหน้าของสาขาที่ตนกำลังศึกษาอยู่เพิ่มมากขึ้น”

กิจกรรม “โมเดิร์นฟาร์ม ดิ คอมพาส” เริ่มต้นด้วยกิจกรรม “ล้อมวงคุย ลุยกลางไร่” ซึ่งนายบรรเทิงได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการทำการเกษตรสมัยใหม่ของมิตรผลที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ ผ่านมาตรฐาน Bonsucro หลังจากนั้น น้องๆ นักศึกษาได้เรียนรู้แนวทางการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบ “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ที่ไร่กุดจอก อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ผ่านฐานการเรียนรู้ทั้ง 6 ฐาน ได้แก่ 1) การเตรียมดินและปลูกพืชตระกูลถั่ว 2) การควบคุมรอยล้อเครื่องจักร 3) การลดการไถพรวน 4) การตัดอ้อยสดและทิ้งใบอ้อยคลุมดิน 5) การให้น้ำและระบบให้น้ำ และ6) อากาศยานไร้คนขับ (UAV) ซึ่งเป็นหลักการทำไร่อ้อยสมัยใหม่แบบ

“มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้กับน้องๆ ผ่านประสบการณ์ตรงในไร่ ต่อจากนั้น น้องๆ นักศึกษาได้ร่วมทัวร์บริษัท มิตรผลวิจัย พัฒนาอ้อยและน้ำตาล จำกัด (RDI) โรงงานน้ำตาล โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า และโรงงานผลิตเอทานอล ของกลุ่มมิตรผล เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทั้งหมดในการนำอ้อยมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าทุกส่วน (From Zero Waste to Value Creation) หลังจากนั้น จึงเป็นกิจกรรมนำเสนอผลการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์ และปิดท้ายด้วยกิจกรรมการมอบทุนการศึกษาให้กับน้องๆ นักศึกษา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุพิน  ผาสุข รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและศิษย์เก่าสัมพันธ์ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมที่มีประโยชน์ พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้รับความรู้และมุมมองใหม่ๆ รวมถึงได้สัมผัสประสบการณ์ตรงในพื้นที่จริง นอกเหนือจากการศึกษาในห้องเรียน ทั้งยังได้พบปะผู้เชี่ยวชาญในสายงาน ซึ่งทั้งหมดนี้ จะสร้างแรงบันดาลใจและความกระตือรือร้นให้กับนักศึกษาในการศึกษาและประกอบอาชีพด้านนี้ต่อไปในอนาคต อีกทั้งยังเกิดความมั่นใจว่าสาขาที่กำลังศึกษาอยู่เป็นอุตสาหกรรมสำคัญของประเทศที่สามารถพัฒนาต่อไปได้อีกมาก

นางสาวมะลิวัลย์  ชินโคตร นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้ร่วมกิจกรรมนี้ และได้เรียนรู้ว่าเทคโนโลยีสามารถช่วยพัฒนาทั้งงานเกษตรกรรมและเกษตรกรอย่างเห็นได้ชัด ช่วยให้รู้จักการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด เรียกว่า ใช้แรงงานน้อยแต่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยกิจกรรมที่ประทับใจเป็นพิเศษ คือ ฐานการให้น้ำหรือระบบชลประทานในไร่อ้อยแบบลิเนีย พีวอท (Linear Pivot) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ใช้แรงงานน้อยมากแต่สามารถทำการเกษตรบนแปลงขนาดใหญ่ให้เกิดผลผลิตมหาศาลได้ หลังจากการร่วมกิจกรรมแล้ว รู้สึกว่าอาชีพเกษตรกรเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจ และรู้สึกกระตือรือร้นที่จะศึกษาต่อในด้านนี้ เพื่อประกอบอาชีพที่จะสามารถช่วยสนับสนุนเกษตรกรรมของไทยต่อไปในอนาคต

นายบรรเทิง กล่าวสรุปว่า ในยุคที่เทคโนโลยีสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างฉับไวเช่นนี้ การทำเกษตรสมัยใหม่ คือ แนวทางสำคัญที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้ โดยนอกจากจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุแล้ว ยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากอ้อยไฟไหม้และปัญหาผลผลิตอ้อยตกต่ำ อีกทั้งช่วยให้อาชีพเกษตรกรมั่นคงยิ่งขึ้น พร้อมพัฒนาการเกษตรในประเทศอย่างรอบด้าน ด้วยเหตุนี้ มิตรผลจึงมุ่งผลักดันการทำไร่อ้อยสมัยใหม่ มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม ในกลุ่มเกษตรกร ตลอดจนสร้างแรงบันดาลใจด้านการเกษตรให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยมีกิจกรรม มิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม ดิ คอมพาส เป็นอีกหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยมอบทักษะความรู้ให้แก่เกษตรกรของประเทศ  โดยมิตรผลจะยังคงส่งเสริมการพัฒนางานด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้วยมิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม และโครงการอื่นๆ ในอนาคต

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *