web analytics

ติดต่อเรา

“นาฏศิลป์นิพนธ์” มาสเตอร์พีซนิสิต มศว

ครั้งหนึ่งอาชีพนักร้องนักแสดง เคยถูกมองว่าเป็นอาชีพร้องเล่นเต้นกินรำกิน ไส้แห้ง ครั้งหนึ่งเคยมีความห่วงใยจากคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ครูบาอาจารย์ผู้คร่ำหวอดสอนสั่งศิลปะวิทยาการนาฎศิลป์ไทยว่า นาฎศิลป์ไทยจะสูญหายหรือไม่ได้รับความสนใจเหลียวแลจากเด็กรุ่นใหม่ เด็กเจนเอ็กซ์เจนวายจะหันไปนิยมลีลาท่าเต้นแบบฝรั่งมังค่า แต่เมื่อวิชาการเรียนการสอนนาฎศิลป์ที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบและกระบวนทัศน์ไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ ก็ทำให้ศาสตร์สาขาวิชานาฎศิลป์มีชีวิตชีวา มีความสนุกสนานมากพอที่จะดึงดูดความสนใจให้แก่เด็ก ๆ รุ่นใหม่ ๆ เพราะสามารถสร้างคุณค่าและมูลค่าได้อย่างน่าพึงพอใจแก่การประกอบอาชีพในอนาคตสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยถูกวิพากษณ์วิจารณ์ว่าอาชีพเต้นกินรำกินจะไม่ทำให้พวกเขาพวกเธอมีอนาคตที่ดีได้ กลับกลายเป็นความใฝ่ฝันของเด็กสมัยนี้อย่างมาก เพราะสามารถสร้างงาน สร้างเงิน สร้างฐานะและสร้างชื่อเสียงได้อย่างน่าหลงใหลภาคภูมิ

การเรียนสาขาวิชานาฎศิลป์ของนิสิตในคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ก็เช่นกัน แม้จะปฏิเสธไม่ได้ว่าอาศัยพื้นฐานมาจากการเรียนการร่ายรำ การระบำรำฟ้อน การละเล่นเต้นแสดงท่วงท่าลีลาทางนาฎยลีลาแบบดั้งเดิม กระทั่งวิวัฒนาการประดิษฐ์ท่ารำท่าเต้นและการแสดงต่าง ๆ ให้ร่วมสมัยมากขึ้น เป็นการบูรณาการศาสตร์และศิลป์ สร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้ขึ้นใหม่ตามหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนในทุกวันนี้ ดังนั้นลูกหลานใครที่สมัครใจอยากเรียน “นาฎศิลป์” ก็ไม่ใช่สิ่งน่าอับอายอีกต่อไป ตรงกันข้ามกลับทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองคิดอยากสนับสนุนให้ลูกหลานได้มาสนใจเรียนนาฎศิลป์ทั้งนาฎศิลป์ไทยและนาฎศิลป์สากลกันมากขึ้นอย่างน่าภูมิใจ เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นการอนุรักษ์ส่งเสริมและสืบสานวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่แต่ยังส่งผลต่อการมีอนาคตที่สดใสรออยู่ข้างหน้าของพวกเขาและเธอเหล่านั้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ระวิวรรณ วรรณวิไชย คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เผยถึงความภูมิใจในโอกาสที่นิสิตสาขาวิชานาฎศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มศว ชั้นปีที่ 4 ได้แสดงผลงานสร้างสรรค์ “นาฎศิลป์นิพนธ์” ก่อนการสำเร็จการศึกษาว่า “นิสิตนาฎศิลป์รุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 21 ชื่อรุ่น หริทรา มีทั้งหมด 26 คน ทั้งชายและหญิง แสดงให้เห็นว่าการเรียนนาฎศิลป์ไม่มีข้อจำกัดด้านเพศ ขึ้นอยู่กับความชื่นชอบและการวัดแวว เมื่อนิสิตจะสำเร็จการศึกษาหลังจากเรียนครบตามหลักสูตร 4 ปีแล้ว ในเทอมสุดท้ายนิสิตแต่ละคนจะต้องไปคิดสร้างสรรค์ชุดการแสดงมานำเสนอต่อคณาจารย์คนละ 1 ชุด เรียกว่า ‘นาฎศิลป์นิพนธ์’ หรือการทำวิทยานิพนธ์ทางด้านนาฎศิลป์ โดยชุดการแสดงนั้นจะต้องมีความเหมือนจริง แสดงจริง แต่งตัวจริง ไม่ต่างจากการต้องแสดงจริงในเวทีงานต่าง ๆ แต่กว่าที่นิสิตนาฎศิลป์ มศว

แต่ละคนจะคิดชุดการแสดงขึ้นได้นั้นพวกเขาจะต้องศึกษาค้นคว้า เรียนรู้ คิดวิเคราะห์ ออกแบบสร้างสรรค์ให้การแสดงและนิทรรศการมีความโดดเด่น บางชุดการแสดงนั้นนิสิตต้องอ้างอิงจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เชื่อมโยงกับคติความเชื่อหรือทัศนคติสมัยใหม่ เพื่อที่จะสื่อท่าทางการร่ายรำออกมาเป็นความหมายให้คนดูเข้าใจรับรู้ได้อย่างที่ต้องการ จึงเกิดการสร้างสรรค์นาฎศิลป์ไทยและสากลในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อที่จะช่วยให้นิสิตสามารถพัฒนาตนเองทั้งด้านร่างกายและจิตใจไปสู่การทำงานในสังคมได้อย่างประสบความสำเร็จ

โดยผ่านกระบวนการเรียน “นาฎศิลป์” อาทิ การแสดงในชุดต่าง ๆ รวม 19 ชุดการแสดงที่เป็นผลมาจากการเรียนนาฎศิลป์ของนิสิต จนถ่ายทอดออกมาสู่สายตาผู้ชมนับหลายพันคู่ได้อย่างน่าชื่นชม ประกอบด้วย บุปผศารทาบูชา / Trung Treet / หทัยหาญ / ใคร่ (ครวญ) / The Maoris / ติษยรักษิตา / Charile and The Chocolate Factory / ลายทองสุโขทัย / ทากิณี / Ranga Holi / The Butterfly Effect / ธรรมราชปุระ / อูซาฮอห์ (ดิ้นรน) / คดีเด็ด / ใต้ฟ้าฝนหลวง / ปู่จาตานตุง / Philosophy of Bamboo /เรณูเลือกคู่ / Thai Fair Thai Fun เป็นต้น

หทัยหาญ
The Maoris
Thai Fair Thai Fun

โดยการแสดงชุด “ใต้ฟ้าฝนหลวง” เป็นหนึ่งในชุดการแสดงผลงานสร้างสรรค์ของนิสิต นางสาวจุฑาทิพ ศรีสืบ (จ๊ะจ๋า) ได้สะท้อนแนวคิดว่า “หยาดฝนจากฟ้าสู่ประชาชน จากน้ำพระพระราชหฤทัยเกิดเป็นโครงการพระราชดำริฝนหลวงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อบรรเทาทุกข์ของพสกนิกรภาคอีสาน นำเสนอในรูปแบบของนาฎศิลป์พื้นบ้านร่วมสมัย” เป็นต้น

หากอาหารขาดความเปรี้ยว เค็ม หวาน มัน เผ็ดร้อน อาหารนั้นก็หารสชาติความเอร็ดอร่อยไม่ได้ เช่นเดียวกับ “นาฎศิลป์นิพนธ์” ที่เรียกได้ว่าเป็นเสมือนกับ “รสชาติ” ของชีวิตนิสิตสาขาวิชานาฎศิลป์ แม้จะเป็นเพียงบทพิสูจน์เล็ก ๆ ของการศึกษาไทยในศาสตร์สาขาวิชานาฎศิลป์ แต่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกระบวนการสำคัญของการเรียนและการพัฒนาทางความคิด สติปัญญาและการสอนให้เด็กได้เรียนรู้ลงมือทำด้วยตนเองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำจนถึงปลายน้ำ กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานระดับมาสเตอร์พีซนี้เหมือนดังอาวุธแห่งปัญญาที่สร้างสรรค์สิ่งดีงามลงไปในจิตใจของเด็กรุ่นใหม่ สิ่งที่ดีที่งามที่เจริญแก่วิชานาฎศิลป์ไทยและสากลให้ไม่สูญหายไปจากวัฒนธรรมรากเหง้าสังคมไทยเราและได้ใช้ความรู้ความสามารถของตนเองอย่างเต็มที่ในการแบ่งปัน ส่งต่อแก่ผู้อื่นและสังคมตามความเหมาะสม ทำให้เกิดการสร้างคนที่ดีที่เก่งเพื่อการรับใช้สังคมอย่างยั่งยืนได้

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *