web analytics

ติดต่อเรา

13 ปี TK park ต่อยอดแนวคิด “ห้องสมุดมีชีวิต”

คำถามที่ว่าแหล่งเรียนรู้ยังจำเป็นอยู่หรือไม่ในโลกยุคใหม่ที่ทุกสิ่งถูกเชื่อมโยงเข้าหากันด้วยเทคโนโลยี อุทยานการเรียนรู้ TK park หน่วยงานในสังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) สำนักนายกรัฐมนตรี ตอบโจทย์นี้ในโอกาสฉลองครบรอบปีที่ 13 ด้วยการพลิกแนวคิด ห้องสมุดมีชีวิต” ตั้งเป้าหมายขับเคลื่อนนวัตกรรมการเรียนรู้ผ่านการสนทนากับบุคคลที่ผ่านประสบการณ์หลากหลาย ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในสังคม (“Conversations for Innovation”)

ในวาระครบรอบ 13 ปีครั้งนี้ อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดกิจกรรมพิเศษ TK Cafe” ไฮไลท์พลังบทสนทนา 31 หัวข้อ จากเสียงเล็กๆ ของกลุ่มคนที่มีความหมายในมิติทางสังคมและวัฒนธรรม ด้วยแนวคิดที่ว่าการสนทนาคือการสร้างองค์ความรู้ที่ไม่รู้จบ ที่จะจุดไฟการเรียนรู้ เติมแรงบันดาลใจนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์และการเปลี่ยนแปลงในสังคม พร้อมนำเสนอนิทรรศการ 12+1: Make the Conversation”  ที่ทำให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจ “ห้องสมุดมีชีวิต” ในอีกมิติหนึ่ง

ดร.อธิปัตย์ บำรุง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ กำกับดูแลอุทยานการเรียนรู้ TK park กล่าวว่า แม้เทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างรวดเร็ว แต่พื้นที่การเรียนรู้ทางกายภาพของอุทยานการเรียนรู้ TK park ยังคงมีบทบาทสำคัญยิ่งในสังคมยุคนี้ เพราะที่นี่คือพื้นที่เปิด สำหรับคนทุกกลุ่มวัยให้เข้ามาทำกิจกรรม ใช้ประโยชน์ในเชิงสร้างสรรค์และเรียนรู้ร่วมกันในหลากหลายรูปแบบ โดยไม่ได้เข้ามาเพียงอ่านหนังสือแบบห้องสมุดในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง TK Café จะเป็นกิจกรรมต้นแบบที่จะเปิดให้ TK park กลายเป็นพื้นที่แห่งบทสนทนา โดยมีเป้าหมายคือการเรียนรู้ร่วมกันซึ่งเป็นหัวใจของห้องสมุดมีชีวิตยุคใหม่ นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนแสวงหาความรู้ในเชิงประสบการณ์ผ่านการรวมกลุ่ม อาทิ TK แจ้งเกิด TK Reading Club  TK Board Game Club เพื่อปลุกพลังของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เติมพลังความคิดสร้างสรรค์และทักษะทางปัญญา เพื่อก่อเกิดนวัตกรรมอันจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง

อุทยานการเรียนรู้ TK park เปิดให้บริการครั้งแรกในวันที่ 24 มกราคม 2548 ช่วง 13 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าใช้บริการแล้วกว่า 6 ล้านคน มีการยืม-คืนหนังสือและสื่อการเรียนรู้ ประมาณ 4 แสนครั้งต่อปี ล่าสุดได้ขยายเครือข่ายเป็นจำนวน 43 แห่งในพื้นที่ 27 จังหวัด โดยเปิดให้บริการในรูปแบบอุทยานการเรียนรู้อย่างเต็มรูปแบบแล้ว 23 แห่ง นอกจากนี้สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ยังได้ริเริ่ม “โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ระดับตำบล” โดยผนึกกำลังกับ 7 หน่วยงานภาคี นำร่องสร้างสรรค์เครือข่ายศูนย์เรียนรู้ใกล้บ้าน 200 แห่ง มุ่งลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ สนับสนุนกระบวนการเรียนรู้สาธารณะ มุ่งเพิ่มทักษะในการเรียนรู้ด้วยตนเองของเด็ก เยาวชนและประชาชนทั่วไป อันจะนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพชุมชนอย่างยั่งยืน

ตลอดทั้งปี 2561 อุทยานการเรียนรู้ TK park เตรียมพร้อมจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ พัฒนาบุคลากรด้านการบริหารจัดการห้องสมุดมีชีวิต สร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยเริ่มจากงานประชุมสหปาฐกถาประจำปี TK Forum 2018 ในหัวข้อ “Creating Better Libraries: The Unfinished Knowledge” โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจาก 3 ประเทศร่วมเปิดเวิร์คชอปและบรรยายด้านการสร้างสรรค์ห้องสมุดที่ดีกว่า ในวันที่ 14-15 กุมภาพันธ์ 2561 ตามด้วยงานเทศกาลหนังสือนิทานภาพนานาชาติ ในช่วงระหว่างวันที่ 31 มีนาคม- 8 เมษายน 2561 โครงการบ่มเพาะเยาวชน TK แจ้งเกิดนักเขียนและเยาวชนคนดนตรี TK Band ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2561 โครงการลับสมองประลองปัญญา สรรหาหนูน้อยนักเล่า ในช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2561 รวมถึงงาน “แนะให้แนว” เตรียมพร้อมเยาวชนระดับมัธยมปลายให้ค้นหาเส้นทางที่ใช่  ในเดือนมิถุนายน 2561

สำหรับทิศทางการดำเนินงานของ อุทยานการเรียนรู้ TK park ในปี 2561 นั้น ดร.อธิปัตย์ กล่าวว่า อุทยานการเรียนรู้ TK park มุ่งมั่นในภารกิจการสร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้สำหรับคนรุ่นใหม่ โดยมุ่งเน้นบูรณาการการอ่านและการเรียนรู้ในทุกมิติ ทั้ง online และ offline โดยในปีนี้จะมีการปรับรูปแบบพื้นที่การอ่านรูปโฉมใหม่ที่อุทยานการเรียนรู้ TK park กรุงเทพ นอกจากนี้จะมีการเปิดบริการอุทยานการเรียนรู้เครือข่ายใหม่อีก 4 แห่ง ได้แก่ ห้องสมุดพิพิธภัณฑ์นครลำปาง อุทยานการเรียนรู้นราธิวาส อุทยานการเรียนรู้ศรีสะเกษ และ อุทยานการเรียนรู้กระบี่ นอกจากในเชิงกายภาพแล้วอุทยานการเรียนรู้ TK park ยังคงพัฒนาฐานข้อมูล TK Public Online Library ให้ตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น โดยเพิ่มบริการหลักสูตรออนไลน์นอกเหนือไปจากหนังสือ หนังสือเสียง และสื่อวีดิทัศน์เพื่อขยายโอกาสและเพิ่มช่องการเข้าถึงสื่อการเรียนรู้ในโลกออนไลน์

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *