web analytics

ติดต่อเรา

ศิลปินหญิงเมืองสุราษฎร์ฯ คว้าชัยเวทีจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิคครั้งที่ 19

ศิลปินหญิงจากเมืองสุราษฎร์ธานีคว้าชัยรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 ของเวทีจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค ครั้งที่ 19 เลือกใช้ศิลปะเป็นทางออกของความรู้สึกและความในใจจากการเป็นโรคซึมเศร้าซึ่งไม่สามารถอธิบายเป็นคำพูดได้ สะท้อนเนื้อหาที่ต้องการสื่อสารออกมาได้อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา

หลายต่อหลายครั้งที่เราพบว่าผลงานศิลปะนั้นเป็นสื่อกลางในการแสดงออกถึงมุมมองของศิลปินที่มีต่อสังคมรอบตัวเหตุบ้านการเมืองและทัศนคติที่มีต่อสิ่งต่างๆทั้งยังเป็นเครื่องมือถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดภายในจิตใจของศิลปินที่บางครั้งไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นถ้อยคำเพื่อให้คนรอบข้างเข้าใจได้การแสดงออกมาผ่านผืนผ้าใบเส้นสีน้ำหนักของการตวัดแปรงการนำวัสดุเข้ามาใช้ด้วยความละเมียดและมีความหมายในทุกบริบทสิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าผลงานศิลปะนั้นนอกจากจะจรรโลงผู้ชมแล้วยังจรรโลงความรู้สึกของศิลปินด้วย

ดังเช่นผลงาน คุกความคิด ของ ..วนาภรณ์ เตี่ยมังกรพันธุ์ อายุ 26 ปี จาก .สุราษฎร์ธานี ที่คว้ารางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 1 จากเวทีประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิคเพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติครั้งที่ 19 โดยใช้เทคนิคสีน้ำมัน ศิลปินเล่าว่าเข้าร่วมการประกวดจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิคเป็นครั้งที่ 3 แล้ว และครั้งนี้ถือเป็นการรับรางวัลครั้งใหญ่ที่สุด ผลงานชิ้นนี้ถูกถ่ายทอดจากความรู้สึกของตัวเองที่เป็นโรคซึมเศร้า ผ่านเรื่องราวที่ดีและร้ายมาในอดีต รู้สึกเสียใจและหดหู่อยู่ตลอดเวลา ไม่สามารถอธิบายความรู้สึกนึกคิดออกมาให้คนรอบข้างเข้าใจได้ ยึดติดกับความคิดเดิมๆ ว่าเราผิดพลาดอะไร คิดวนเวียนอยู่เช่นนั้นแบบไม่เห็นทางออก จึงใช้สัญลักษณ์กรงแทนการกักขัง ส่วนตุ๊กตาเสมือนความเป็นเด็กของตัวเองที่ยังต้องพึ่งพาครอบครัวเสมอ ถือเป็นการระบายออกทางความรู้สึก เยียวยาจิตใจตัวเอง บำบัดความแน่นหนักเหล่านั้นด้วยงานศิลปะ สะท้อนความคิดอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งชัดเจนกว่าการอธิบายเป็นคำพูด การสร้างผลงานขึ้นมานั้นทำให้พบว่าเรายังมีตัวตนอยู่ในโลกของความเป็นจริง ไม่ใช่โลกของความคิดเพียงอย่างเดียว

นายเจษฎากร แดงอร่าม อายุ 27 ปี จาก .สมุทรสาคร ส่งผลงาน “Dimension W No.1” เข้าร่วมประกวดและได้รับรางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 2 นั้น เล่าว่าต้องการถ่ายทอดถึงการตีความของผู้ชมผลงานที่อาจจะมองสุนทรียะที่เห็นไปเป็นเรื่องราวต่างๆ ได้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคลที่พบเจอมา โดยผลงานชิ้นนี้เป็นมุมมองที่คาบเกี่ยวระหว่างยุคของอนาล็อคกับดิจิทัล คือถึงแม้จะมีคอมพิวเตอร์เข้ามาในชีวิตแต่ก็ยังมีความเป็นยุคดั้งเดิมอยู่ จึงคิดว่าธรรมชาติของความคิดคนเราสามารถสร้างสรรค์ทั้งสองสิ่งนี้ให้อยู่ร่วมกันได้ผ่านผลงานจิตรกรรม และเลือกใช้เทคนิคผสมเพื่อดึงดูดผู้ชมด้วยความสวยงามของสีสัน พื้นผิว และใส่รายละเอียดต่างๆ อันจะส่งผลต่อการรับรู้และนำไปสู่การตีความหมายในเชิงรูปธรรมและนามธรรม ด้วยความที่งานศิลปะนั้นมีองค์ประกอบหลายอย่าง บางคนอาจมองในแง่มุมของความสวยงาม ซึ่งศิลปินก็พยายามถ่ายทอดออกมาในระดับหนึ่ง แต่บางครั้งก็ไม่ได้ต้องการให้ผู้ชมนั้นเข้าใจในผลงานที่มีความซับซ้อนเหล่านั้น

ส่วนผลงาน กลเรา โดย นายนภนันท์ รังสีธรรมคุณ  อายุ 22 ปี จากกรุงเทพฯ ที่คว้า รางวัลยอดเยี่ยมอันดับ 3 เล่าถึงการถ่ายทอดแนวความคิดกับผลงานชิ้นนี้ว่า เลือกเล่าเรื่องออกมาเป็นภาษาภาพ ที่ใช้ทัศนะธาตุ คือ สี น้ำหนัก เส้น รูปทรง สื่อออกมาให้ผู้ชมตีความหมาย โดยมนุษย์นั้นไม่ได้มีเพียงแค่บทบาทเดียว แต่มีหลายบริบทในคนๆ เดียว สามารถเลือกได้ว่าจะแสดงบทบาทใดออกมาให้สังคมรับรู้ จะเลือกอุปนิสัยใดของตัวเองไหนออกมาแสดงในแต่ละสถานการณ์ อาทิ เวลาอยู่บ้านจะมีตัวตนแบบหนึ่ง เมื่ออยู่นอกบ้านก็จะแสดงตัวตนอีกแบบหนึ่ง เรายอมปิดบังหนึ่งใบหน้าเอาไว้เพื่อให้เกิดการยอมรับทางสังคม กล ในบริบทนี้จึงหมายถึงการเล่นกล หรือแสดงกลของมนุษย์”

สำหรับอีกหนึ่งผลงานที่ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของศิลปินออกมาได้เป็นอย่างดี คืออารมณ์ ความรู้สึก ของช่วงเวลาหนึ่งในเมืองโดย นางสาวอำไพ ดาวกลางไพร อายุ 25 ปี ซึ่งได้รับ รางวัลดีเด่น โดยเลือกใช้เทคนิคผสมหลายอย่างทั้งสีน้ำมันและการปักผ้า ศิลปินเล่าว่าเป็นการถ่ายทอดถึงความเปล่าว่างของเรื่องราว อารมณ์ ความรู้สึก ของช่วงเวลาหนึ่งที่ได้มาใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่ พบเจอสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป จากภูเขากลายเป็นตึกสูง จากพื้นป่าสีเขียวกลายเป็นป่าคอนกรีต ทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว เหงา อ้างว้าง แต่ต้องอดทน เพื่อแสวงหาความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จทางการศึกษา ที่จะทำให้ครอบครัวมีความสุข มีโอกาสเก็บเกี่ยวความรู้ ประสบการณ์จากในเมืองใหญ่แห่งนี้ไปพัฒนาบ้านเกิดต่อไป

นิทรรศการจิตรกรรมร่วมสมัยพานาโซนิค “เพื่อความสุขของมวลมนุษยชาติ” ครั้งที่ 19 ภายใต้หัวข้อ “สร้างสรรค์เพื่อความสมบูรณ์แห่งชีวิต” ยังคงจัดแสดงผลงานที่ได้รับการพิจารณาเข้าร่วมการแสดงงานโดยคณะกรรมการและผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งสิ้น 54 ภาพ จาก 52 ศิลปิน ไปจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2560 สามารถเข้าชมได้ทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ในเวลา 09.00-16.00 น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า สอบถามรายละเอียดได้ที่โทร. 02 282 8525

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *