web analytics

ติดต่อเรา

พระองค์ภาฯ ทรงเข้าร่วมการอภิปรายระดับสูงของ UN ที่ New York และทรงเน้นย้ำความร่วมมือ เพื่อการป้องปรามอาชญากรรมข้ามชาติ

ในฐานะทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญาสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงเข้าร่วมการอภิปรายระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติ ว่าด้วยอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร ที่สำนักงานสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาเมื่อเร็ว ๆ นี้  โดยมีผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานต่างๆ ของประเทศไทย อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยเข้าร่วมงาน

งานดังกล่าวเป็นการประชุมระดับสูง จัดขึ้นเพื่อรำลึกในโอกาสครบรอบ 25 ปีของเหตุการณ์ที่นายจีโอวานนี ฟาลคอนี (Mr. Giovanni Falcone) ผู้พิพากษาชาวอิตาลี ถูกลอบสังหารโดยกลุ่มองค์กรอาชญากรรม โดยมุ่งเน้นประเด็นการปฏิบัติตามอนุสัญญาสหประชาชาติ เพื่อต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร และพิธีสารแนบท้าย เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้หารือเกี่ยวกับแนวโน้มและความท้าทายในการรับมือกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตลอดจนผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในที่ประชุมใหญ่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ได้ทรงกล่าวถ้อยแถลง ยกย่องความกล้าหาญและผลงานของผู้พิพากษาจิโอวานี ฟาลคอนี และเจ้าหน้าที่รัฐที่เสียชีวิตจากการลงมือของอาชญากรรมที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร และทรงเน้นย้ำว่า วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 จะสำเร็จได้จะต้องมีการจัดการเสริมสร้างหลักนิติธรรม และความมั่นคงขึ้น ซึ่งในประเด็นดังกล่าว การปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติที่จัดตั้งในลักษณะองค์กรนับเป็นภารกิจสำคัญยิ่ง

ในการประชุมกิจกรรมคู่ขนาน เรื่อง “ความท้าทายจากองค์กรอาชญากรรมและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงกล่าวว่า การลงนามในสนธิสัญญาระหว่างประเทศย่อมไม่เพียงพอ ที่สำคัญคือประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ควรมีการร่วมมือกันในลักษณะข้ามพรมแดน ทั้งในการบังคับใช้กฎหมาย และการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในทางอาญาแก่กันและกัน นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือและคุ้มครองเหยื่อของอาชญากรรมข้ามชาติ รวมถึงชุมชนด้วยเช่นกัน พร้อมกันนี้ ทรงกล่าวถึง ความเชื่อมโยงและเกื้อกูลกันระหว่างวิสัยทัศน์อาเซียนปีค.ศ. 2025 กับวาระแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งเอกสารทั้งสองฉบับจะช่วยวางกรอบแนวทางในอนาคต และเน้นย้ำถึงความจำเป็นของหลักนิติธรรม สันติภาพ และเสถียรภาพ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *