web analytics

ติดต่อเรา

โครงการ Enjoy Science เสริมศักยภาพครูวิทย์-คณิต ปั้นเด็กไทยยุค 4.0

ในโรงเรียนชายขอบที่นักเรียนส่วนมากเป็นเด็กด้อยโอกาส เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษา โอกาสที่เด็กได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยแทบไม่มี การเรียนต่อในสาขาวิทยาศาสตร์ยิ่งเป็นเรื่องไกลตัว ขณะเดียวกันโรงเรียนยังมีสื่อการเรียนการสอนไม่เพียงพอ หลายๆ ครั้ง ครูจึงทำได้เพียงเน้นการบรรยายและให้นักเรียนจินตนาการเอง ทำให้นักเรียนเกิดความเบื่อหน่าย ครูเองก็รู้สึกไม่ดีกับตัวเองที่ไม่สามารถสอนเด็กได้เท่าเทียมกับโรงเรียนใหญ่ๆ ในตัวเมือง ความรู้สึกในตอนนั้นเหมือนกับว่าเรากำลังสอนประวัติศาสตร์ของวิชาวิทยาศาสตร์ให้กับนักเรียนมากกว่า

เสียงสะท้อนจากดร. บุญเลี้ยง จอดนอก ครูวิทยาศาสตร์แห่งโรงเรียนบ้านหัวบึง จังหวัดอุดรธานี แสดงให้เห็นถึงการขาดโอกาสของนักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในการเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ และความจำเป็นในการพัฒนาบุคลากรครูผู้สอน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้นักเรียนเข้าใจในบทเรียน และเกิดทัศนคติที่ดีต่อวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ นำมาสู่ความสนใจอยากเรียนรู้เพิ่มเติม และเลือกที่จะศึกษาต่อในสาขาดังกล่าวตามมา

ผลการทดสอบโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ หรือ PISA (Programmed for International Student) ซึ่งวัดความเข้าใจของเยาวชนอายุ 15 ปี ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน พบว่าไทยอยู่ในอันดับที่ 55 จากทั้งหมด 70 ประเทศ และเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจะพบว่าคะแนนของนักเรียนในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่สูงกว่านักเรียนในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาค่อนข้างมาก สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา การยกระดับมาตรฐานการเรียนการสอนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของโรงเรียนในเมืองใหญ่และพื้นที่ห่างไกลให้เท่าเทียมกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่ไทยต้องการก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมตามยุทธศาสตร์ “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาล

ด้วยเหตุนี้ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงร่วมมือกับพันธมิตรจากภาครัฐและภาคประชาสังคม ภายใต้โครงการ “Chevron Enjoy Science:สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต” จึงได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น เพื่อเสริมศักยภาพและทักษะของให้ครูมีความรู้ความเข้าใจในการนำกระบวนการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ (Inquiry-based learning) มาใช้ในชั้นเรียนของตน โดยมุ่งเน้นครูในโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เพื่อเปลี่ยนแนวทางการสอนจากการ “ท่องจำ” ไปสู่ “การตั้งคำถามและหาคำตอบ” เพื่อวางรากฐานทักษะการเรียนรู้แห่งศตวรรษที่ 21ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า “โครงการ Chevron Enjoy Science มุ่งส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว

โดยหนึ่งในกิจกรรมสำคัญคือการสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนและอบรมครูผู้สอน โดยให้แนวทางและกลวิธีการจัดการเรียนการสอนที่จะช่วยให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในบทเรียน รู้จักคิดวิเคราะห์ และมีทัศนคติที่ดีในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ นำมาสู่แรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นที่จะศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ ตลอดสองปีแรกของการดำเนินโครงการ มีครูผ่านการอบรบทั้งสิ้น 3,551 คน จาก 371 โรงเรียน ใน 10 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาค และมีเด็กนักเรียนได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 113,780 คน”

“ก่อนหน้านี้ ปัญหาหลักที่ดิฉันพบในชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ คือ นักเรียนไม่เข้าใจเนื้อหาที่เรียนอย่างถ่องแท้ เพราะเน้นท่องจำเป็นหลัก หลังจากที่ดิฉันได้เข้าร่วมอบรมครูในโครงการ Chevron Enjoy Science ก็ได้ลองนำกระบวนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้มาปรับใช้ในชั้นเรียน

โดยเริ่มชั้นเรียนด้วยการตั้งคำถามให้น่าสนใจเพื่อกระตุ้นความสงสัยของนักเรียน จากนั้นจึงแบ่งกลุ่มให้นักเรียนได้ทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์ร่วมกัน พร้อมกับมอบหมายให้แต่ละคนมีหน้าที่ความรับผิดชอบภายในกลุ่ม ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยให้งานกลุ่มสำเร็จ

ส่งผลให้นักเรียนมีความกล้าแสดงออกและตื่นตัวในชั้นเรียนมากขึ้น การได้เห็นประกายความอยากรู้อยากเห็นในแววตาของนักเรียนเหล่านั้น ดิฉันก็มีความสุขมากแล้ว” ครูนิดาวรรณ ช้างทอง ครูประจำโรงเรียนบ้านสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวอย่างปลาบปลื้ม

เช่นเดียวกับ ครูสาธิต วรรณพบ จากโรงเรียนตะกั่วป่า “เสนานุกูล” จังหวัดพังงา ได้เล่าถึงความประทับใจในการสอนแบบใหม่นี้ว่า “ในการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้  จะไม่มีการบอกเด็กว่าความเห็นหรือคำตอบนั้นผิด แต่ครูจะช่วยตั้งคำถามให้นักเรียนค่อยๆ หาคำตอบตามความเข้าใจของตนเอง ส่งผลให้เด็กได้คิดวิเคราะห์ และไม่กลัวที่จะแสดงความคิดเห็นต่อหน้าชั้นเรียน

นอกจากนั้น โครงการฯ ยังมีการติดตามผลอย่างใกล้ชิด ด้วยระบบครูพี่เลี้ยงทางวิชาการที่คอยให้คำแนะนำดั่งกัลยาณมิตร เพื่อให้เราสามารถนำวิธีการเรียนการสอนแบบสืบเสาะไปใช้ในชั้นเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีกำลังใจและมั่นใจในการสอนของตนเองมากขึ้น และจากความกระตือรือร้นและมั่นใจในการสอนของตนเองนี้ ยังส่งผลให้นักเรียนสนใจให้ความร่วมมือในชั้นเรียนมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งมองว่าเทคนิคการสอนแบบใหม่นี้ ได้เปิดโลกทัศน์ให้ทั้งครูและนักเรียนไปพร้อมๆ กัน”

สำหรับครูหลายๆ คนที่เข้าร่วมการอบรม รางวัลแห่งความสำเร็จของพวกเขาไม่ได้วัดที่ผลคะแนน แต่คือการช่วยให้เด็กได้พัฒนาและฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ และเห็นว่าการเรียนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นเรื่องสนุก ไม่น่าเบื่ออีกต่อไป โดยครูบุญเลี้ยง กล่าวว่า “ภายหลังจากที่ผมนำการเรียนรู้แบบสืบเสาะมาใช้ในชั้นเรียน ผมภูมิใจที่ทำให้นักเรียนเกิดความสนุกในการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ทั้งยังสนใจจะเลือกเรียนในสายวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวะศึกษามากขึ้น ขณะที่หลายคนอยากประกอบอาชีพในสายวิทยาศาสตร์ ผมไม่ได้เน้นสอนให้เด็กไปแข่งกับใคร แค่พวกเขามีโอกาสมากขึ้น ผมก็ดีใจแล้ว”

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *