web analytics

ติดต่อเรา

ฟ้าชัย วิศวกรรม ติดตั้งระบบโซล่าเซลล์มูลค่า 25 ลบ. ให้เมโทรซิสเต็มส์ฯ

ดร.อัครนันท์ มงคลชลสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ฟ้าชัย วิศวกรรม จำกัด ตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์และให้บริการแบบครบวงจรเกี่ยวกับระบบโซล่าร์เซลล์ชั้นนำของโลก เปิดเผยว่า

ล่าสุดบริษัทฯ ได้ทำการส่งมอบงานติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ให้กับ บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยโครงการนี้เป็นแบบติดตั้งบนดาดฟ้าอาคารและแบบโรงจอดรถรวม 6 อาคาร ใช้แผงโซล่าเซลล์รวมทั้งสิ้น 1,718 แผ่น สามารถผลิตพลังงานได้กว่า 540 กิโลวัตต์

ทั้งนี้อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ ฟ้าชัยฯ เลือกใช้นั้นล้วนแต่มีประสิทธิภาพ ทำให้การใช้งานมีความยั่งยืนยิ่งขึ้น ประกอบด้วย Inverter ยี่ห้อ KACO new energy จากประเทศเยอรมนี แผ่นโซล่าเซลล์ ยี่ห้อ Hanwha Solar จากประเทศเกาหลีใต้ รวมถึงอุปกรณ์รองรับและยึดแผ่นโซล่าเซลล์ ยี่ห้อ Clenergy จากประเทศออสเตรเลีย

โดยการให้บริการหลังการติดตั้งนั้น ฟ้าชัยฯ จะจัดเตรียมทีมวิศวกร ที่ได้รับการอบรมจากโรงงานผู้ผลิตสินค้า ที่ฟ้าชัยฯ เป็นตัวแทนจำหน่าย คอยให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นตลอดอายุการใช้งานของระบบเป็นระยะเวลากว่า 25 ปี

รวมถึงเป็นผู้ประสานกับทางโรงงานในเรื่องการรับประกันสินค้าให้ โดยที่ทางลูกค้าไม่ต้องดำเนินการเอง นอกจากนี้ ยังมีการรับประกันผลงานเป็นระยะเวลา 1 ปี รับประกันงานติดตั้ง 2 ปี ระหว่างนี้จะเข้ามาตรวจสอบฟังก์ชั่นการทำงานของระบบปีละ 2 ครั้ง ทุก ๆ 6 เดือน รวมถึงรับประกัน Inverter 7 ปี แผ่นโซล่าเซลล์ 12 ปี และโครงสร้างรองรับและยึดแผ่นโซล่าเซลล์ 10 ปี

“ส่วนภาพรวมตลาดของธุรกิจด้านระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์นั้น ฟ้าชัยฯ มองว่าขณะนี้ยังมีการเติบโตที่ค่อนข้างช้า เฉลี่ยไม่เกิน 20% ต่อปี เนื่องจากยังต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐหรือนโยบายของรัฐ

เพราะในปัจจุบันการลงทุนติดตั้งส่วนใหญ่ต้องใช้เงินทุนของผู้ใช้งานโดยตรง จึงทำให้การขยายตัวไม่มากเท่าที่ควร ทั้งยังมีขั้นตอนการขออนุญาตดำเนินการค่อนข้างซับซ้อนและล่าช้า ดังนั้น จึงอยากขอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายที่จูงใจหรือส่งเสริมเพิ่มขึ้น อาทิ ลดขั้นตอนการขออนุญาต ลดหน่วยงานในการขออนุญาต และรับซื้อไฟส่วนเกินที่เหลือใช้

จึงจะเป็นการส่งเสริมให้ภาคประชาชนหรือภาคธุรกิจหันมาติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้รัฐมีพลังงานไฟฟ้าสำรองเพียงพอ ลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า ลดการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า รวมถึงไม่ต้องขยายโรงงานไฟฟ้าอีกด้วย” ดร.อัครนันท์ กล่าว

ด้าน กิตติ เตชะทวีกิจกุล รองประธานกรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแบบครบวงจร กล่าวว่า

บริษัทฯ มีแนวคิดสำหรับการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาตั้งแต่ 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่ขณะนั้นค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงระบบขนาดเดียวกันที่ติดตั้งอยู่ในปัจจุบันราคาประมาณ 50-60 ล้านบาท ระยะเวลาคืนทุนกว่า 10 ปี แต่เมื่อเวลาผ่านไปต้นทุนในการติดตั้งมีราคาถูกลง จึงตัดสินใจกลับมาลงทุน และสิ่งสำคัญเพื่อเป็นการส่งเสริมพลังงานสะอาดที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)

รวมทั้งเป็นการประหยัดค่าไฟฟ้า และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงของธุรกิจอีกด้วย “งบประมาณที่ใช้ในการติดตั้งครั้งนี้อยู่ที่ 25 ล้านบาท มีราคาถูกลงกว่าเดิมครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งได้ระบบการจ่ายไฟทั้งหมดประมาณ 540 กิโลวัตต์ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 5 ปีในการคุ้มทุน หลังจากนั้นจะทำให้เรามีรายได้ทางอ้อมจากการประหยัดค่าไฟได้กว่าปีละ 5.2 ล้านบาท เป็นระยะเวลากว่า 20 ปี” กิตติกล่าว

“สำหรับการติดตั้งในครั้งนี้เชื่อว่าเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม อีกทั้งทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลง สามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้ดีขึ้น

โดยคาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากลูกค้าที่มีความเชื่อและเห็นด้วยกับการดำเนินงานของบริษัทเรา ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการของบริษัทด้วย ซึ่งระบบนี้เสมือนเป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าของบริษัทฯอีกแหล่งหนึ่ง จะใช้ครอบคลุมทั้ง 11 อาคาร โดยปกติแล้วบริษัทฯ ใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 700 กิโลวัตต์

พลังงานที่ได้จากการติดตั้งระบบโซล่าเซลล์ในครั้งนี้สามารถนำมาใช้ได้เกือบ 80% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้ารวม และถือเป็นแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน และทำงานคู่ขนานกับการไฟฟ้าฯตลอดเวลาที่มีแสงอาทิตย์

ซึ่งทำเราใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ลดลง โดยพลังงานไฟฟ้าทั้งสองแหล่งจะถูกรวมเป็นหนึ่งเดียว (synchronization) ก่อนจะป้อนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าของบริษัทพร้อม ๆ กันไป ทั้งนี้ แผนในอนาคตต้องขึ้นกับนโยบายของรัฐในการส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะในขณะนี้รัฐไม่มีการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เหลือใช้

ดังนั้น การออกแบบติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่เราติดตั้งอยู่นี้ จึงเป็นการออกแบบที่ต้องใช้ให้หมด หากภาครัฐไม่มีนโยบายจูงใจ เช่น รับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน เราก็ยังคงไม่มีแผนจะขยายการติดตั้งในอนาคต” กิตติ กล่าวสรุป

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *