web analytics

ติดต่อเรา

NETBAY พร้อมขาย IPO 40 ล้านหุ้น

มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่าย เปิดเผยว่า หลังจากที่ บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 40 ล้านหุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทฯ ภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ซึ่งสำนักงาน ก.ล.ต.ได้อนุมัติแบบคำขอฯของ บมจ.เน็ตเบย์ แล้ว

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บมจ.เน็ตเบย์ มีทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 1 บาท โดยเป็นทุนจดทะเบียนที่ชำระแล้ว 160 ล้านบาท และจะเสนอขายหุ้น IPO อีกจำนวน 40 ล้านหุ้น
โดยจะนำเงินที่ได้จากระดมทุนในครั้งนี้ไปใช้ในการขยายธุรกิจและเป็นเงินทุนหมุนเวียน

สำหรับ บมจ.เน็ตเบย์ เป็นผู้นำการพัฒนาผลิตภัณฑ์ซอฟท์แวร์และบริการด้าน e-Logistics Trading และ e-Business Services ครบวงจร ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคดิจิตอล (Digital Economy) ของประเทศไทย โดยทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง
เกตเวย์ให้บริการรับ-ส่งและเชื่อมโยงข้อมูลการค้าผ่านระบบออนไลน์พร้อมกัน ณ จุดเดียว ระหว่างภาคธุรกิจและภาครัฐ (B2G) ภาคธุรกิจและภาคธุรกิจ (B2B) และภาคธุรกิจกับภาคประชาชน (B2C) ด้วยการนำเทคโนโลยี ไพรเวท คลาวด์   คอมพิวติ้ง (Private Cloud Computing) มาให้บริการได้ตลอด 24ชั่วโมง

พิชิต วิวัฒน์รุจิราพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เน็ตเบย์ จำกัด (มหาชน) หรือ NETBAY กล่าวว่า บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจมากว่า 10 ปี โดยพัฒนาเทคโนโลยีซอฟท์แวร์ e-Logistics Trading และ e-Business Services ที่ให้บริการครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ (ลูกค้าที่ใช้บริการ) กลางน้ำ (ระบบ Gateway ของบริษัทฯ) และปลายน้ำ (การเชื่อมโยงการทำธุรกรรมกับหน่วยงานต่างๆ) อย่างครบวงจร เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย พร้อมทั้งเป็นศูนย์กลางการให้บริการรับ-ส่งและเชื่อมโยงข้อมูลทางออนไลน์ระหว่างหน่วยงานต่างๆ จากจุดเดียว (Omni Channel Connectivity Gateway) ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ศูนย์ประมวลผล ศูนย์ประมวลผลสำรอง ระบบซอฟท์แวร์ปฏิบัติการที่ใช้รองรับการทำธุรกรรมรับ-ส่งข้อมูล ระบบเครือข่ายและระบบป้องกันความปลอดภัยข้อมูลเพื่อให้ลูกค้าได้รับความสะดวกรวดเร็ว ลดขั้นตอนและลดต้นทุนจากการรับ-ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อทดแทนการใช้เอกสาร

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีความแตกต่างจากผู้ประกอบการรายอื่นในอุตสาหกรรม ICT ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้จัดจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์และเน็ตเวิร์ค ให้แก่ลูกค้าภาครัฐหรือเอกชนเป็นรายโครงการ (Software Integrators) หรือเป็นผู้ประกอบการที่รับจ้างผลิตและพัฒนาซอฟท์แวร์ (Software House) ขณะที่ บมจ.เน็ตเบย์ นับเป็นผู้ประกอบการรายแรกๆ ที่ให้บริการในรูปแบบ Software as a Service (SaaS) หรือซอฟท์แวร์ที่ให้บริการผ่านระบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด Better Faster Cheaper โดยลูกค้าจะไม่ต้องใช้เงินจำนวนมากในการลงทุนซื้อซอฟท์แวร์ รวมถึงไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์และค่าบำรุงรักษารายปี ขณะเดียวกันยังช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลผ่านระบบออนไลน์เพื่อทดแทนการใช้เอกสาร รวมถึงช่วยควบคุมต้นทุนเนื่องจากจะคิดค่าใช้บริการตามปริมาณการใช้งานจริง หรือคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายเดือน ส่งผลให้กระแสรายได้ของบริษัทฯ มีความมั่นคงและสม่ำเสมอ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัยในการรักษาข้อมูลของลูกค้า การให้บริการ การพัฒนาระบบการตลาด การลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าเข้ามาใช้บริการธุรกรรมออนไลน์ผ่านระบบของเน็ตเบย์มากขึ้น

โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีบริการแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มบริการ e-Logistic เป็นการให้บริการรับ-ส่งข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้เอกสาร เกี่ยวกับสินค้าและการขนส่งที่เกิดขึ้นภายในประเทศและระหว่างประเทศ เช่น บริการ
รับ-ส่งข้อมูลธุรกรรมเอกสารการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ บริการรับ-ส่งข้อมูลธุรกรรมพิธีการทางศุลกากร 2.กลุ่มบริการ               e-Business Services ได้แก่ การรายงานข้อมูลธุรกรรมลูกค้าที่ทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าและ 3.กลุ่ม Projects และอื่นๆ ได้แก่ การพัฒนาระบบงานสารสนเทศภายในให้แก่หน่วยงานต่างๆ

“เราเชื่อมั่นว่าจะสามารถสร้างรายได้ประจำที่มีความมั่นคงในระยะยาวและผลักดันการเติบโตจากการขยายเครือข่ายการให้บริการไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นๆ เพื่อเพิ่มปริมาณผู้ที่มาใช้บริการธุรกรรมออนไลน์ เนื่องจากนโยบายของภาครัฐและภาคเอกชนจะใช้การรับ-ส่งข้อมูลทางระบบออนไลน์เพิ่มขึ้นทดแทนการใช้เอกสาร ขณะที่รัฐบาลก็มีนโยบายพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจยุคดิจิตอล (Digital Economy) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อธุรกิจของเน็ตเบย์ในอนาคต”

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *