web analytics

ติดต่อเรา

Chevron Enjoy Science ชวนเมกเกอร์รุ่นใหม่ ประกวดสิ่งประดิษฐ์

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการกว่า 2 ล้านคน และผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุกว่า 60 ปีกว่า 9.4 ล้านคน  ซึ่งสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การอนามัยโลกคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 โดยมีผู้สูงอายุมากกว่า 15 ล้านคน หรือร้อยละ 23 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนับเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้พร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม

ด้วยเหตุนี้ โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต นำโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย จึงร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest” การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับเมกเกอร์หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรม ในระดับนักเรียนนักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ในหัวข้อ นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อส่งเสริมเยาวชนไทยในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคม และสร้างแรงบันดาลใจและความสนใจในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม โดยมีรางวัลเป็นทุนการศึกษา พร้อมทริป ร่วมงาน Maker Faire ในทวีปยุโรปและในประเทศญี่ปุ่น รวมมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท

หทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า โครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest’ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการ Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชน ริเริ่มขึ้นในปี 2558 โดยเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ที่มุ่งพัฒนาการศึกษาในสาขาสะเต็มทั้งในระบบการศึกษาในสายสามัญและสายอาชีพ ตลอดจนสร้างการรับรู้ กระตุ้น และส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจและความสนใจที่จะศึกษาต่อในสาขาสะเต็ม

ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีกำลังคนแห่งอนาคตที่มีทักษะในสาขาสะเต็มเพิ่มมากขึ้น โดยในปีแรก เราได้ร่วมกับสวทช. จัดโครงการ Enjoy Science: Let’s Print the World’ การประกวดนวัตกรรมจากเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ และงาน Bangkok Mini Maker Faire’ มหกรรมแสดงผลงานของเมกเกอร์ในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก และเพื่อให้การสร้างความสนใจและแรงบันดาลใจในสาขาสะเต็มแก่เยาวชนเป็นไปอย่างต่อเนื่องในปีนี้เราจึงจัดการประกวดYoung Makers Contest ในหัวข้อสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการขึ้น โดยมี สวทช. เป็นผู้ดำเนินงานหลักเช่นเดิม และที่น่ายินดีคือปีนี้เรามีหน่วยงานพันธมิตรที่ให้เกียรติมาร่วมโครงการเพิ่มเติม ได้แก่อพวช. และสอศ.  โดยเราหวังว่าการประกวดจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนนักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษาในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้แก่สังคมไทย

 

ดร. อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)  กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการของตนเอง เพื่อเตรียมรับกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์  จึงเป็นที่มาของหัวข้อการจัดการแข่งขันการ Enjoy Science: Young Makers Contest’ ในปีนี้ โดยเราหวังว่าการประกวดในครั้งนี้จะเป็นเวทีให้นักเรียนนักศึกษาทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษาได้คิดสร้างสรรค์นวัตกรรม ที่สามารถตอบสนองความต้องการและส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้พิการและผู้สูงอายุในบริบทของประเทศไทยได้อย่างแท้จริง ภายใต้งบประมาณไม่สูง และสามารถผลิตได้ในปริมาณมาก เพื่อการใช้งานได้จริงในวงกว้างต่อไป

 

กรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า อพวช. ยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ในครั้งนี้ ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตัลและสังคมแห่งนวัตกรรม ซึ่งขีดความสามารถของประเทศขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ งานฝีมือ การส่งเสริมความสนใจในวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้กับเยาวชนในวงกว้างเป็นพันธกิจหนึ่งของอพวช. ที่จะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาขีดความสามารถดังกล่าวได้อย่างมั่นคง โดยอพวช. จะมุ่งสร้างความสนใจในวัฒนธรรมเมกเกอร์และสาขาสะเต็มให้กับสาธารณชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดแสดงผลงานของเมกเกอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสร้างสรรค์เพื่อสังคม รวมถึงผลงานที่ได้รับรางวัลจากโครงการนี้ ณ พิพิธภัณฑ์ในสังกัด อพวช. เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความสนใจให้กับเยาวชนในสาขาสะเต็มตลอดจนเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนสังคมให้ทัดเทียมกันมากยิ่งขึ้น

 

ดร. มงคลชัย สมอุดร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่าโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest’ สอดคล้องกับเป้าหมายของสอศ. ที่มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนอาชีวศึกษามีความรู้และทักษะในสาขาสะเต็มเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการแรงงานในสาขาสะเต็มซึ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนช่วยยกระดับความสามารถของนักศึกษาอาชีวะในการสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถประเทศได้อย่างยั่งยืน โดยหลังจากนี้ สอศ. จะประชาสัมพันธ์โครงการแก่สถานศึกษาในกำกับของเราที่มีอยู่กว่า 800 แห่ง ให้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด ซึ่งเชื่อว่าจะได้ไอเดียนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการที่น่าสนใจจากนักเรียน-นักศึกษาอาชีวะ เป็นจำนวนไม่น้อย

 

สุพัฒ สังวรวงษ์พนา นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผู้ร่วมพัฒนาผลงานปะการังเทียมรางวัลชนะเลิศประเภทนักเรียน-นักศึกษา โครงการ Enjoy Science: Let’s Print the World กล่าวว่า ผมได้รับความรู้ แรงบันดาลใจ และประสบการณ์ที่มีคุณค่าจากการเข้าร่วมโครงการ Let’s Print the World โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมเวิร์กชอปที่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับคำแนะนำในการพัฒนาผลงานและความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ จากผู้เชี่ยวชาญและผู้เข้าแข่งขัน  นอกจากนั้น การได้เข้าร่วมงานเมกเกอร์แฟร์ ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งจัดแสดงสุดยอดนวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ของเหล่าเมกเกอร์ ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผมในการสร้างสรรค์ผลงานของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น จึงอยากเชิญชวนให้นักเรียนนักศึกษาทั้งสายสามัญและอาชีวะ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการ Young Makers Contest กันให้มากๆ

โครงการ ‘Enjoy Science: Young Makers Contest’ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ วันที่ 30 มิถุนายน โดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ คือ นักเรียนนักศึกษาสายอาชีพ (ระดับไม่เกินปวส.) และนักเรียนนักศึกษาสายสามัญ (ระดับไม่เกินปริญญาตรี) โดยประกวดเป็นทีม ทีมละ 3 คน ประกอบด้วยนักศึกษา 2 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน โดยแต่ละทีมจะต้องส่งข้อเสนอโครงการนวัตกรรมของตนเอง  ซึ่งบรรยายถึงผลงานที่ต้องการสร้าง รวมถึงเอกลักษณ์และประโยชน์ใช้สอยและแผนการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนานวัตกรรม (ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท) ไปที่ [email protected] โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะพิจารณาความน่าสนใจและความเป็นไปได้ของโครงการ และคัดเลือกโครงการที่เข้ารอบจำนวน 40 ทีม (ประเภทละ 20 ทีม) ซึ่งจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการและผู้เข้าร่วมประกวด  ก่อนที่จะพัฒนาผลงานให้แล้วเสร็จและนำเสนอต่อคณะกรรมการสำหรับการตัดสินหาผู้ชนะในแต่ละประเภท ซึ่งรางวัลชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษา และตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พัก เพื่อเข้าชมงาน Maker Faire ในทวีปยุโรป และรองชนะเลิศอันดับหนึ่งจะได้รับทุนการศึกษา และตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พัก เพื่อเข้าชมงานแสดงผลงานทางเทคโนโลยีที่ประเทศญี่ปุ่น และยังมีรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1.5 ล้านบาท

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *