web analytics

ติดต่อเรา

กรมโรงงานฯ รุกหารือญี่ปุ่น พัฒนาคุณภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

กรมโรงงานอุตสาหกรรม ร่วมหารือญี่ปุ่นเพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพแรงงานในภาคอุตสาหกรรมให้มีศักยภาพการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมโลก เตรียมวางแผนจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาแรงงานภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย เพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาคุณภาพแรงงานด้านอุตสาหกรรม ตลอดจนพัฒนาหลักสูตรต้นแบบพัฒนาบุคลากรตาม 10 กลุ่ม S-Curve ทั้งนี้ โรงงานในกลุ่ม S-Curve มีการจดประกอบและขยายโรงงาน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 รวมแล้วกว่า 200 โรงงาน และมีความต้องการแรงงานคุณภาพเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 คน และและหากกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve เติบโตต่อเนื่อง คาดว่าภายในปีนี้จะมีความต้องการบุคลากรในโรงงานเพิ่มขึ้นในกลุ่มนี้ไม่ต่ำกว่า 80,000 คน

ดร. พสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมและรองโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่ากรมโรงงานฯเห็นความสำคัญของการพัฒนาบุคลากร เพื่อรองรับการขยายตัวของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรม (S-Curve) ในอนาคต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งมีสัดส่วน GPD สูงถึงร้อยละ 10 ของ GDP ทั้งประเทศ ด้วยเหตุนี้กรมโรงงานฯ หน่วยงานรัฐและเอกชนจากประเทศญี่ปุ่นจึงหารือร่วมกัน หาแนวทางป้องกันการขาดแคลนแรงงานในอนาคต ในเบื้องต้นจากการเข้าร่วมรับฟังการประชุมโต๊ะกลมครั้งที่ 1 (1st Round Table Conference) ที่จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นในราชอาณาจักรไทย เรื่อง “การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมของไทย” พบว่าในปัจจุบันไทยประสบปัญหาตำแหน่งงานที่ว่างมีมากกว่าจำนวนคนว่างงาน เนื่องจากคุณสมบัติของคนว่างงานไม่ตรงกับความต้องการ ขาดบุคลากรด้านการสอนและเครื่องมือการเรียนการสอนที่ไม่ทันสมัยต่อการใช้งานจริง ทำให้ฝีมือบุคลากรและแรงงานไม่ได้คุณภาพและมีปริมาณไม่เพียงพอ

โดยการร่วมมือครั้งนี้ญี่ปุ่นจะช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคล และให้งบประมาณสนับสนุนในการต่อยอดเทคโนโลยี โดยหน่วยงาน HIDA (The Overseas Human Resource and Industrial Association: HIDA) เพื่อมุ่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลของภูมิภาคอาเซียนจำนวน 30,000 คนภายในระยะเวลา 3 ปี พร้อมจัดส่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องด้านการวางแผนนโยบายและด้านการศึกษาพื้นฐานเข้าฝึกอบรม และยกระดับบุคลากรเพื่อเป็นมาเธอร์ แฟคตอรี่ (Mother Factory) คือเมื่อบริษัทย้ายหรือขยายการผลิตไปยังประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียน คนไทยที่ได้รับการฝึกอบรมจะเป็นผู้สอนให้กับบุคลากรในประเทศนั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีแนวคิด ในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาบุคลากรในประเทศไทย โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นกว่า 50 แห่งและสถาบันวิจัยของไทย เพื่อกำหนดทิศทางมาตรฐานบุคลากรในโรงงานอุตสาหกรรมและพัฒนาฝีมือแรงงานด้านอุตสาหกรรมของไทย

อย่างไรก็ตาม การร่วมหารือกับญี่ปุ่นครั้งนี้ ถือเป็นนิมิตหมายอันดีของการพัฒนาคุณภาพบุคลากรในโรงงานของไทย พร้อมพัฒนาหลักสูตรต้นแบบในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลในภาคอุตสาหกรรมและเรียกความมั่นใจจากผู้ประกอบการต่างประเทศกลับมาลงทุนมากขึ้น โดยคาดว่าการพัฒนาคุณภาพแรงงานโดยความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่น จะทำให้ไทยได้เปรียบทางการค้า การลงทุนจากต่างชาติ ขยายฐานการผลิต และมีการจ้างงานในโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve ซึ่งมีการจดประกอบและขยายโรงงาน ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2559 รวมแล้วกว่า 200 โรงงาน และมีความต้องการแรงงานคุณภาพเพิ่มขึ้นกว่า 20,000 คน และหากกลุ่มอุตสาหกรรม S-Curve เติบโตต่อเนื่อง คาดว่าภายในปีนี้จะมีความต้องการบุคลากรในกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 80,000 คน ดร. พสุ กล่าว

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *