web analytics

ติดต่อเรา

รู้ทันภัย มะเร็งปากมดลูก

 

มะเร็งปากมดลูก คือ เนื้องอกบริเวณปากมดลูกที่ประกอบด้วยเซลล์ ซึ่งมีการแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ก่อนจะลุกลามทำลายเนื้อเยื่อปกติและอวัยวะใกล้เคียง ทั้งยังสามารถลุกลามเข้าสู่เส้นเลือดและเส้นน้ำเหลือง ทำให้เกิดการกระจายของโรคไปยังต่อมน้ำเหลือง และอวัยวะต่างๆในร่างกาย

โดยเจ้าภัยร้ายนี้พบบ่อยเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิงไทย และเป็นอันดับ 3 ของผู้หญิงจากทั่วโลก ซึ่งขะพบมากในช่วงอายุ 35-60 ปี

สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ มักเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์บ่อยครั้ง หรือการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย รวมไปถึงการมีคู่นอนหลายคน และเคยมีประวัติการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น หนองใน เริม ซิฟิลิส เป็นต้น

นอกจากนั้นยังหมายรวมไปถึงกลุ่มบุคคลที่นิยมสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ใช้ยาเสพย์ติด รวมไปถึงการรับประทานยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน

ส่วนโอกาสเสียงอื่นๆ ก็มีตัวอย่าง เช่น

  • ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีการติดเชื้อเอดส์หรือการใช้ยากดภูมิคุ้มกัน
  • การใช้ยาฮอร์โมน DES กับมารดาในระหว่างการตั้งครรภ์
  • การติดเชื้อไวรัสที่ชื่อ human papilloma virus
  • มีการฉีกขาดหรือกระทบกระเทือนบริเวณปากมดลูก
  • มีการอักเสบเรื้อรังของปากมดลูก และไม่ได้รับการรักษาที่ดีพอ
  • มีสามี ที่ไม่ได้รับการขลิบหนังที่ปลายอวัยวะเพศ

ด้านอาการและการแสดงออกของโรค ในระยะเริ่มแรกอาจจะไม่แสดงอาการใดๆทั้งสิ้น แต่สัญญาณเตือนที่สาวๆไม่ควรมองข้าม เมื่อมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน ได้แก่

  • มีเลือดออกหลังหมดประจำเดือน
  • มีประจำเดือนไม่ปกติ ไหลกะปริบกะปรอย หรือออกมากและมาไม่สม่ำเสมอ
  • มีตกขาวออกมากผิดแกติ ตกขาวมีกลิ่น มีลักษณะคล้ายน้ำคาวปลา
  • มีเลือดออกขณะหรือหลังการร่วมเพศ
  • มีเลือดออกหลังวัยหมดประจำเดือน
  • ปวดท้องน้อย หรือปวดบริเวณก้นกบร้าวลงขา
  • ถ่ายปัสสาวะเป็นเลือด ถ่ายปัสสาวะลำบาก หรือมีอาการผิดปกติของระบบขับถ่ายอุจจาระได้ในกรณีที่เป็นมาก

วิธีการตรวจหามะเร็งปากมดลูก สามารถทำได้โดนการตรวจภายใน ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจทางช่องคลอดและทวารหนัก เพื่อดูลักษณะปากมดลูก ตัวมดลูก รังไข่ พังผืดข้างปากมดลูก กระเพาะปัสสาวะ และลำไส้ตรง

นอกจากนั้นยังสามารถทำแป๊ปสเมียร์ (Pap smear) เป็นการขูดเซลล์บริเวณปากมดลูกไปตรวจย้อมสีดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เป็นการตรวจที่ง่ายและไม่เจ็บปวด ทั้งยังเป็นการตรวจหาเซลล์ผิดปกติบริเวณปากมดลูกได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะใช้เพียงแผ่นไม้เล็กๆ (spatula) หรือแปรง ก่อนจะปาดเอาเซลล์ตัวอย่างบริเวณปากมดลูกและช่องคลอดส่วนบนมาตรวจที่ห้องปฏิบัติการ

ข้อแนะนำในการตรวจมะเร็งปากมดลูกประจำปีในผู้หญิง ควรเริ่มทำตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป หรือน้อยกว่าเมื่อเริ่มมีเพศสัมพันธ์ การตรวจควรทำในช่วงหลังมีประจำเดือนวันแรก 10-20 วัน โดยในระยะ 2 วันก่อนไปตรวจ ควรงดการสวนล้างช่องคลอด หรือเหน็บยาในช่องคลอด

กลุ่มที่เป็นมะเร็งปากมดลูก จะแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 มะเร็งพบเฉพาะในตัวปากมดลูก ยังไม่มีการกระจายหรือลุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ซึ่งในระยะดังกล่าว ก็จะมีการแบ่งออกเป็น ระยะ 1a 1b ซึ่งก็ตามแต่ขนาดที่พบ โดยวิธีรักษาในระยะ 1a หากก้อนยังไม่เกิน 4 เซนติเมตร จะรักษาโดยการผ่าตัดมดลูกออก รวมทั้งรังไข่ ปีกมดลูก พังผืดยึดมดลูก บางส่วนของช่องคลอด และต่อมน้ำเหลือง แต่ถ้าหากเกิน 4 เซนติเมตรขึ้นไป อาจต้องใช้เคมีบำบัดหรือรังสีในการรักษาด้วย

ระยะที่ 2

ก็จะแบ่งเป็นระ 2a 2b เช่นเดียวกัน โดย 2a คือมะเร็งมีการลุกลามไปยังช่องคลอดส่วนบน ส่วน 2b คือมีการลุกลามไปยังพังผืดที่ยึดอยู่ข้างมดลูก

ระยะที่ 3 ก็แบ่งเป็น 3a และ 3b ซึ่งในระยะ 3a คือมีการลุกลามของโรคลงไปในช่องคลอดมากจนถึงส่วนล่างของช่องคลอด ส่วน 3b คือระยะที่มีการลุกลามของมะเร็งจากปากมดลูกไปยังพังผืดที่ยึดอยู่ข้างมดลูก ไปจนถึงบริเวณผนังช่องท้อง หรือมีการกระจายของโรคไปที่ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกราน หรือพบการบวมของกรวยไต

ระยะที่ 4 แบ่งเป็น 4a และ 4b ในส่วนของ 4a คือมีการลุกลามของมะเร็งไปยังกระเพาะปัสสาวะที่อยู่ด้านหน้า หรือลำไส้ตรงที่อยู่ด้านหลังของปากมดลูก และช่องคลอด ส่วน 4b คือระยะที่มีการกระจายของโรคทางกระแสเลือดไปยังส่วนอื่นๆของร่างกาย ที่พบบ่อย จะได้แก่ ปอด ตับ กระดูก หรือสมอง

มะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่ป้องกันได้ การเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่ผิดปกติที่ปากมดลูก จนกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกต้องใช้ระยะเวลานานนับปี การตรวจคัดกรองหาความผิดปกติที่ปากมดลูกแต่เนิ่นๆ ร่วมกับการดูแลรักษาจึงเป็นการตัดไฟแต่ต้นลมก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก

ขอขอบคุณข้อมูล จากชมรมฟื้นฟูสุขภาพผู้ป่วยโรคมะเร็ง http://www.siamca.com/knowledge-id197.html

 

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *