web analytics

ติดต่อเรา

ตลาดรถเมืองไทยรุกคืบ…สู่สังคมรถไฟฟ้า ชี้ตลาดรถปีหน้าโตต่อเนื่อง

ค่ายรถยนต์ฟันธงตรงกัน รถยนต์ยุคใหม่ “รุกคืบ…ก้าวสู่สังคมรถไฟฟ้า” เชื่อมคน เชื่อมเทคโนโลยี เชื่อมสิ่งแวดล้อม เชื่อมบริการ พร้อมทุ่มงบวิจัยและพัฒนา เร่งให้ความรู้ผู้บริโภค ชี้ตลาดรถยนต์ปีนี้ทะลุล้านคันแน่นอน ปีหน้าโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5 % ปัจจัยบวกเพียบ เก๋ง กระบะ อีโคคาร์ ยอดขายเพิ่มสูงสุดเป็นสถิติใหม่ ตลาดกระบะบรรทุกเพื่อการพาณิชย์

สมาคมผู้สื่อข่างรถยนต์และจักรยานยนต์ไทย (สรยท.) หรือ (Thailand Automotive Journalists Association : TAJA) จัดเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “ชี้แนวร่วมรัฐ เอกชน เปิดยุทธศาสตร์ยานยนต์ใหม่ รุกทันกระแสโลก…?” โดยมีผู้บริหารจากบริษัทรถยนต์ชั้นนำ และองค์กรภาคเอกชนมาร่วมแสดงความคิดเห็นเทรนด์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวถึงภาพรวมของอุตสาหกรรมยานยนต์ว่า เนื่องจากปีนี้อุตสาหกรรมรถยนต์ก้าวสู่มิติใหม่นั้นคือแนวโน้มการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาด โดยยอดการผลิตรถยนต์ทุกแบรนด์ในเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ 197,203 คัน เพิ่มขึ้น 20.62% จากปีที่ผ่านมา รถยนต์นั่งมียอดการผลิต 76,905 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 9.31% ส่วนรถกระบะ 1 ตัน มียอดการผลิต 117,539 คัน เพิ่มขึ้น 30.15%
จะสังเกตเห็นได้ว่าในช่วงนี้การผลิตรถกระบะ 1 ตัน จำนวนเพิ่มมากขึ้น อันนี้ชี้ให้เห็นถึงการเติบของเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรถกลุ่มนี้ผู้บริโภคจะซื้อไปใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นหลัก ซึ่งคาดว่าการผลิตรถในเดือนพฤศจิกายน 2561 จะยังคงใกล้เคียงกับเดือนตุลาคม ด้วยเหตุที่ผู้ผลิตต้องเร่งผลิตรถล่วงหน้าเพื่อชดเชยวันหยุดในช่วงเทศกาลปีใหม่ และผลิตรถรองรับยอดจองที่จะเกิดขึ้นในงานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 35 ซึ่งคาดว่าจะมียอดจองประมาณ 4-5 หมื่นคัน

ทางด้านสถิติการผลิตรถยนต์ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2561 รวมทุกประเภทอยู่ที่ 1,801,319 คัน เพิ่มขึ้น 9.75% แบ่งเป็นรถยนต์นั่งผลิตอยู่ที่ 738,340 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อหน้า 8.19 เปอร์เซ็นต์ รถโดยสารมากกว่า 10 ตัน ผลิต 437 คัน เพิ่มขึ้น 95.09 เปอร์เซ็นต์ รถบรรทุกมากว่า 5 ตัน แต่ไม่เกิน 10 ตัน ผลิต 26,899 คัน เพิ่มขึ้น 3.83% ส่วนรถกระบะ 1 ตัน 1,035,643 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 11.05% การผลิตรถบรรทุกขนาดใหญ่และการผลิตกระบะ 1 ตัน เติบโตเป็นดรรชนีชี้วัดเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ขยายตัวเติบโตขึ้นอีกด้วย เนื่องจากการผลิตรถกระบะ 1 ตัน เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย 55% และเพื่อการส่งออก 45%

เมื่อมาดูสถิติการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกและจำหน่ายภายในประเทศระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2561 มีการผลิตเพื่อการส่งออกรวมทั้งสิ้น 961,615 คัน เพิ่มขึ้น 2.42% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 349,085 คัน ลดลงจากปีก่อนหน้า 0.01% รถกระบะ 1 ตัน 612,530 คัน เพิ่มขึ้น 3.86% รถกระบะบรรทุก 74,068 คัน ลดลง 2.10% ระกระบะดับเบิลแค็บ 441,493 คัน เพิ่มขึ้น 5.28% รถอเนกประสงค์ PPV จำนวน 96,969 คัน เพิ่มขึ้น 2.32% ขณะที่การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศรมทั้งสิ้น 839,704 คัน เพิ่มขึ้น 19.56% แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง 389,255 คัน เพิ่มขึ้น 16.77% รถกระบะ 1 ตัน 423,113 คัน เพิ่มขึ้น 23.41% แบ่งย่อยเป็นรถกระบะเพื่อการบรรทุก 215,212 คัน เพิ่มขึ้น 18.23% รถกระบะดับเบิลแค็บ 150,562 คัน เพิ่มขึ้น 31.84% รถอเนกประสงค์ PPV 57,339 คัน เพิ่มขึ้น 22.96% รถยนต์โดยสาร 10 ตัน ขึ้นไป 437 คัน เพิ่มขึ้น 95.09% และรถบรรทุก 26,899 คัน เพิ่มขึ้น 3.83%

“การเติบโตขึ้นของตลาดรถกระบะเพื่อบรรทุกเป็นดรรชนีชี้ให้เห็นถึงการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ เนื่องจากความต้องการใช้รถของผู้บริโภคเพื่อใช้งานเพื่อการพาณิชย์ อุตสาหกรรมก่อสร้าง-โครงพื้นฐาน และเกษตรกรรม นอกจากนี้ความต้องการรถยนต์ในกลุ่มรถอเนกประสงค์ SUV ยังสดใสตลาดเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาส่วนแบ่งจากตลาดจากกลุ่มรถยนต์นั่งสูงถึง 69% โดยปัจจัยบวกมาจากขนาดเครื่องยนต์เล็กลง ทำให้ราคาลดลง ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อัตราการเติบโตจึงดีมากๆ นอกจากนี้ตลาดรถอเนกประสงค์ PPV ยังเติบโต 8.9% ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคยังมีความต้องการผลิตภัณฑ์รถยนต์ในกลุ่มนี้” นายสุรพงษ์ กล่าว

จากการความต้องการของตลาดภายในประเทศมากขึ้นคาดว่า ประมาณการการผลิตรถยนต์ในประเทศไทยจะสร้างสถิติใหม่อีกครั้งที่ 2,100,000 คัน เติบโต 5.59% เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,000,000 คัน เพิ่มขึ้น 15.96% และผลิตเพื่อการส่งออก 1,100,000 คัน ลดลง 2.35% สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2561 รวมทั้งสิ้น 201,326 คัน เพิ่มขึ้น 2.78% แบ่งเป็นผลิตรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) 167,314 คัน เพิ่มขึ้น 1.91% และชิ้นส่วนประกอบ (CKD) 34,012 คัน เพิ่มขึ้น 2.78% (คำนวณจากการใช้ชิ้นส่วนมากกว่า 70% คิดเป็น 1 คัน)

ทางด้านการผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงาน (อีโคคาร์) ตั้งแต่เริ่มโครงการปี 2643- ตุลาคม 2561 มีการผลิตทั้งหมด 2,387,512 คัน ผลิตเพื่อส่งออก 1,314,492 คัน คิดเป็นเป็นสัดส่วน 55% ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1,073,020 คัน คิดเป็นสัดส่วน 45% ระหว่างเดือนมกราคม-ตุลาคม 2561 มีจำนวน 317,621 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 7 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นการผลิตเพื่อกาส่งออก 145,183 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกัน 12% แลผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 172,438 คัน เพิ่มขึ้น 30 เปอร์เซ็นต์ จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาการส่งออกอีโคคาร์ลดลง เนื่องจากความต้องการในประเทศเพิ่มขึ้น สัดส่วนการจำหน่ายอีโคคาร์ในประเทศเพิ่มเป็น 55% ส่งออก 45% จากในช่วงเดียวกันของปีก่อนจำหน่ายในประเทศ 45% ส่งออก 55% โดยอีโคคาร์มีสัดส่วนจากการผลิตรถทั้งหมด 317,621 คัน หรือมีสัดส่วนจากยอดการผลิตรถทั้งหมด 17.63% เป็นการส่งออก 15.10% จำหน่ายในประเทศ 20.54%

ส่วนสถิติการผลิตรถจักรยานยนต์เดือนมกราคม – ตุลาคม 2561 อยู่ที่ 2,130,381 คัน เพิ่มขึ้น 1.67% แบ่งเป็นรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 1,724,595 คัน เพิ่มขึ้น 0.38% และชิ้นส่วนประกอบ (CKD) จำนวน 405,786 คัน เพิ่มขึ้น 5.43% เนื่องจากค่ายรถจักรยานยนต์ใช้ประเทศไทยเป็นการผลิตจักรยานยนต์บิ๊กไบค์เพื่อส่งออกไปต่างประเทศกำลังการผลิตจึงเพิ่มขึ้นตามคงามต้องการของตลาดโลก อย่างไรก็ตาม แม้กระแสรถยนต์ไฟฟ้าจะมาแรงทั่วโลก แต่สำหรับในประเทศไทยมีรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมถึงเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 1.435 คัน เพิ่มขึ้น 61% จากเดือนเมษายน 2561 ที่มียอดจดทะเบียนสะสม 1,374 คัน โดยแบ่งเป็นรถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน จำนวน 133 คัน เพิ่มขึ้น 45% รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน จำนวน 3 คัน รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล 1,131 คัน โดยรถไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเป็นรถจักรยานยนต์มากกว่ารถยนต์

ทางด้านนายกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ตลาดรถยนต์กลุ่มพรีเมี่ยมในปี 2560 ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตสูงถึง 27% และคาดว่าปี 2561 อัตราการเติบโตของตลาดรถยนต์กลุ่มพรีเมี่ยมจะอยู่ที่ระดับ 28,000 คัน หรือมีอัตราการเติบโตจากปีก่อนหน้า 12% โดยในปี 2559 บีเอ็มดับเบิลยูเริ่มให้ความสนใจเข้ามาทำตลาดรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid) และรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ซึ่งทางบีเอ็มดับเบิลยูได้มีการให้ความรู้เรื่องรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริดกับผู้บริโภคผ่านการจัดสัมมนาทางวิชาการในรูปแบบต่าง ๆ และได้ขยายการให้ความรู้ไปสู่การให้ความรู้รถยนต์ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังให้ทุนการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนารถยนต์ไฮบริดกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยรวมไปถึงการลงทุนตั้งสถานีชาร์จไฟฟ้าทั่วประเทศ 50 สถานี ซึ่งจะดำเนินการได้ครบถ้วนภายในปีนี้ ผลของการดำเนินยุทธศาสตร์ดังกล่าวส่งผลให้ปีนี้รถยนต์บีเอ็มดับเบิลยูปลั๊กอินไฮบริดมีอัตราการเติบโตสูงถึง 112% นอกจากนี้ บีเอ็มดับเบิลยูยังได้ลงทุนเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ศูนย์พัฒนา Autonomous เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ทางธุรกิจยานยนต์ในอนาคตของบีเอ็มดับเบิลยูทั่วโลก 4 แนวทาง ที่จะมาเป็น Value Change กุญแจดอกสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ คือ

– A: Autonomous
– E: Electrified
– C: Connected
– S: Services

สำหรับแนวทางการวิจัยและพัฒนารถยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยูเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในอนาคต เพราะการที่สังคมไทยจะก้าวสู่สังคมรถไฟฟ้ายังต้องการโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงเพื่อสร้างประโยชย์สูงสุดทั้งภาครัฐ เอกชน และผู้บริโภค

นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานฝ่ายการตลาดและรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงแนวทางการพัฒนารถยนต์มาสด้าในอนาคตว่า มาสด้า ยังคงยึดแนวคิด zoom-zoom มุ่งเน้นโมเดลธุรกิจ CASE : C=Connected,  A=Autonomous, S=Shared, E=Electric ที่ยังคงวิสัยทัศน์ที่โลก ผู้คน และสังคม พร้อมวางแผนทิศทางของอุตสาหกรรมยานยนต์ไว้ว่า ปี 2573 จะลดการผลิตรถที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปให้ได้ 50% และในปี 2593 จะลดเหลือเพียง 90% โดยตั้งเป้าหมายให้การผลิตรถยนต์เป็นรถไฟฟ้า แบบ ไฮบริด หรือปลั๊กอิน รวมไปทั้ง EV ให้ได้ 95% ของการผลิตรถทั้งหมด นอกจากนี้ทางมาสด้ายังมีแผนนำเสนอยานยนต์ไร้คนขับออกสู่ตลาดในปี 2568 โดยในอนาคต Mazda EV ก็จะยังคงเป็นรถที่อยู่ในวิสัยทัศน์ที่จะตอบโจทย์ นำเสนอให้มีการขับขี่ที่สุก มีความรับผิดชอบต่อโลก และเหมาะสมกับสังคม และผู้คน

“รถไฟฟ้าของทางมาสด้า ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นการนำเครื่องโรตารี่มาใช้ในการสร้างกระแสไฟฟ้ากลับไปสู่แบตตอรี่ในรูปแบบไฮบริด รวมถึงจะมีการต่อยอดการผลิตให้รองรับ แก๊สแอลพีจี ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมถึงเรื่องของกระแสดไฟฟ้าที่อาจะมีผลกระทบจากพายุ หรือไฟฟ้าดับ สามารถนำเชื้อเพลิงจากแก๊ส แอลพีจี มาใช้กับรถ แล้วจ่ายไฟกลับไปยังเครื่องใช้ต่าง ๆ ในบ้าน” นายธีร์ กล่าว

ทางด้านนายองอาจ พงศ์กิจวรสิน นายกสมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการผลิตอยู่ในอันดับ 12 ของโลก อันดับ 4 ของเอเซีย และเป็นที่ 1 ของอาเซียนและโอเชียเนีย รวมถึงตะวันออกกลาง ซึ่งถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างมากในการเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ และที่สำคัญ ประเทศไทยยังติดอันดับหนึ่งในห้าของโลกในเรื่องของความคุ้มค่าในการผลิตเทียบเท่าญี่ปุ่น หรือประเทศชั้นนำของโลก ด้วยกระแสของโลกอุตสาหกรรมยานยนต์ปัจจุบันจะเห็นว่ามีแนวโน้มไปเรื่องของรถพลังงานไฟฟ้า หรือ อีวี ซึ่งเหตุผลของการเกิดอีวีนั้น เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดของ อีวี คือ มีมลภาวะน้อยกว่า เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้เชื้อเพลิง แต่ปัจจุบัน ในประเทศไทยยังไม่แพร่หลายมากนัก โดยมียอดขายรถอีวี ไม่ถึง 1% แต่อย่างไรก็ตามในหลายประเทศได้มีการพัฒนาและมีทิศทางนโยบายการใช้รถอีวี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น ยุโรปคาดว่าปี 2573 จะมีรถที่เป็นไฮบริดหรือปลั๊กอิน และ อีวี อยู่ที่ 20-30% ส่วนมหาอำนาจอย่างจีน ตั้งเป้าว่าในปี 2593 จีนจะใช้รถเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนญี่ปุ่น มีการคาดการณ์ว่า 2593 จะลดก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Effect) ให้ได้ 80% โดยในอนาคตอันใกล้รถยนต์ 100 คัน จะต้องเป็นรถไฟฟ้า 20-30%

“ทางด้านเทคโนโลยียานยนต์ในอนาคตสิ่งที่จะเกิดขึ้น ก็คงไม่พ้นเรื่องของแบตเตอรี่จะถูกพัฒนาให้ได้ระยะการขับขี่ได้ไกลขึ้น  ต่อมาเรื่องแรงบิดที่จะถูกพัฒนาให้สามารถลากจูงของที่มีขนาดใหญ่ได้ อันต่อมาก็คงไม่พ้นเรื่องราคาที่ถูกลง และสุดท้ายคือการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้รถไฟฟ้าเกิดขึ้นมาได้เร็วยิ่งขึ้น สุดท้ายคือ ประเทศไทยจะรักษาฐานการผลิต 3 ล้านคัน และรักษามาตรฐานการผลิตเหนือคู่แข่งในตลาด จึงจำเป็นที่จะต้องเตรียมตัว และเปลี่ยนแปลงการผลิตรถไฟฟ้า เพราะอย่างไร รถไฟฟ้าเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว” นายองอาจ กล่าว

ขณะที่นางสาวสุรีทิพย์ ละอองทอง โฉมทองดี รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการตลาด บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มองแนวโน้มตลาดรถยนต์ว่า ในฐานะที่นิสสันเป็นบริษัทข้ามชาติ การกำหนดกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินธุรกิจจึงเป็นกลยุทธ์ระดับโลกเพื่อตอบโจทย์การตลาดทั่วโลก ซึ่งจะขับเคลื่อนภายใต้ปรัชญา “Nissan Intelligent Mobility : NIM” คือเทคโนโลยีอัจฉริยะเพื่อการขับขี่ในอนาคตที่นิสสันพัฒนาขึ้นมาเพื่อมอบประสบการณ์การขับขี่ที่ดีที่สุดให้ผู้ขับขี่ ซึ่งจะเป็นการเชื่อมต่อระว่างระบบนิเวศ ชุมชน และผู้ขับขี่เข้าด้วยกัน นับเป็นกุญแจสำคัญสู่โลกสะอาดและปลอดภัย นับจากนี้ไปนิสสันจะสร้างแบรนด์เพื่อสร้างการรับรู้ด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้ คือ

– Nissan Intelligent Power: ความก้าวล้ำของระบบขับเคลื่อน
– Nisssan Intelligent Driving: ความก้าวล้ำของการขับขี่
– Nissan Intelligent Integration: ความก้าวล้ำของการผสานเทคโนโลยี

จากข้อมูลการวิจัยของสำนักงานสถิติแห่ง ล่าสุดระบุว่า ในปี 2573 ประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ การเคลื่อนไหว และการเชื่อมต่อ (Mobility + Connected) จะเข้ามาอยู่บนรถยนต์และเคลื่อนไหวไปพร้อมกับรถและผู้ขับขี่

“ต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีอะไรก็ตาม จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากความต้องการของผู้บริโภค (Demand) รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังจะเข้ามาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ก็เช่นกัน จากข้อมูลของนิสสันระบุว่า มีคนจำนวนมากถึง 40% มีความสนใจที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า โดยมีจำนวน 1 ใน 3 ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มอีก 5% เพื่อที่จะได้เทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า ต้องยอมรับว่าอนาคตยานยนต์ปฏิเสธไม่ได้ในสิ่งที่กำลังจะมาถึง ดังนั้นค่ายรถยนต์ต้องเร่งให้ความรู้เตรียมความพร้อมกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต” นางสาวสุุรีทิพย์ กล่าวในที่สุด

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *