web analytics

ติดต่อเรา

OTOP นวัตวิถี เยี่ยมชมหมู่บ้านท่องเที่ยวดินแดน 3 วัฒนธรรม

สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดอุตรดิตถ์ จัดโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จังหวัดอุตรดิตถ์ กิจกรรมสื่อมวลชนเยี่ยมชมหมู่บ้านท่องเที่ยวจังหวัดอุตรดิตถ์ ดินแดน 3 วัฒนธรรม (ล้านนา ล้านช้าง ไทยกลาง) ระหว่างวันที่ 17-18 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข่าวสารการดำเนินงานชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ของจังหวัดอุตรดิตถ์

โดยสื่อมวลชนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ประกอบด้วย สื่อส่วนกลางและสื่อท้องถิ่น มีพื้นที่เป้าหมายในการศึกษาดูงาน ได้แก่ อำเภอท่าปลา อำเภอลับแล อำเภอทองแสนขัน และอำเภอเมือง ซึ่งสื่อมวลชนจะได้สัมผัสวิถีชุมชนอย่างใกล้ชิด เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมเสน่ห์ของแต่ละชุมชนที่แตกต่างกัน เช่น บ้านท่าเรือ หมู่ 9 อ.ท่าปลา มีแหล่งท่องเที่ยว คือ เขื่อนดินขนาดใหญ่ ที่นักท่องเที่ยวจะได้ล่องแพสัมผัสธรรมชาติ เรียนรู้วิถีประมงน้ำจืด ที่สร้างรายได้หลักให้ชุมชน

บ้านคุ้ม หมู่ 4 ต.ชัยจุมพล อ.ลับแล ชมการสาธิตการทอผ้าซิ่นตีนจกไท-ยวน ลับแล ชมพิพิธภัณฑ์ผ้าทอโบราณนับร้อยปี และ ที่บ้านน้ำพี้ หมู่ 9 ต.น้ำพี้ อ.ทองแสนขัน ที่มีบ่อเหล็กน้ำพี้ขนาดใหญ่ เยี่ยมชมการตีดาบแบบโบราณ และที่บ้านพระฝาง หมู่ 3 ต.ผาจุก อ.เมืองอุตรดิตถ์ เยี่ยมชมความงดงามและสักการะพระฝางทรงเครื่องโบราณ ณ วัดพระฝางสวางคบุรีมุนีนาถ เพื่อการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวหมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี จังหวัดอุตรดิตถ์ ให้นักท่องเที่ยวได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง

โครงการ “ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี” ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรวมตัวของการท่องเที่ยวระดับชุมชน ‘แอ่งเล็ก’ สร้างเป็นอาชีพที่ยั่งยืน โดยใช้นวัตกรรมบวกกับวิถีชีวิตของชุมชน ยกเสน่ห์ความงดงามของท้องถิ่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยว ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี และอาหาร พัฒนาเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวซื้อสินค้าในชุมชน ทำให้รายได้กระจายอยู่ในชุมชน

ทั้งนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์ มีชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จำนวน 9 อำเภอ 28 หมู่บ้าน เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์ มีความโดดเด่น เป็นดินแดน 3 วัฒนธรรม คือ ล้านนา ล้านช้าง และไทยกลาง สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมและใช้จ่ายได้ทั้งสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ประวัติศาสตร์ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม ที่สามารถสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสเสนห์ วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และช่วยเสริมสร้างรายได้ ให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *