web analytics

ติดต่อเรา

เชฟรอน จับมือ อพวช. สร้างแรงบันดาลใจเยาวชน

เราเรียนสายวิทยาศาสตร์แล้วจะไปทำอาชีพอะไรบ้างนะ? คำถามนี้หากย้อนกลับไปเพียงไม่กี่ปีก่อน เราคงได้ยินคำตอบที่วนเวียน กันอยู่เพียงไม่กี่อาชีพ เช่น หมอ วิศวกร นักวิจัย เป็นต้น แต่ในวันนี้คำตอบของเยาวชนรุ่นใหม่กำลังจะมีความหลากหลายและความน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ด้วยโอกาสในการทำความรู้จักกับอาชีพอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม

ซึ่งล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต และเป็นที่ต้องการของสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยกิจกรรมในรูปแบบของนิทรรศการแบบอินเทอร์แอคทีฟในโครงการ “Enjoy Science Careers: สนุกกับอาชีพวิทย์” เพื่อสร้างความสนใจในสาขาอาชีพสะเต็มแก่เยาวชนไทย โครงการ “Enjoy Science Careers: สนุกกับอาชีพวิทย์” เกิดขึ้นจากความร่วมมือของบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิตจำกัด องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย

ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้และทดลองสวมบทบาทเป็นผู้เชี่ยวชาญใน 10 อาชีพสาขาสะเต็ม ซึ่งยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในสังคมไทย แต่เป็นที่ต้องการของตลาดและมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในกรุงเทพฯ ณ สยามสแควร์วัน มีนักเรียนและผู้ปกครองกว่า 1,000 คน เข้าร่วมกิจกรรมตลอด 3 วันของการจัดกิจกรรม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ก่อนจะนำไปจัดแสดงในกิจกรรมคาราวานวิทยาศาสตร์ของ อพวช. ที่จะเดินทางไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย

Enjoy Science Career  2ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า “การพัฒนากำลังคนด้านสะเต็มเป็นหนึ่งในโครงการเชิงยุทธศาสตร์ของกระทรวงฯ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐบาลด้านการพัฒนากำลังคนให้มีความสามารถเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปลี่ยนจากฐานการผลิตแบบตามสั่ง ไปสู่การเป็นผู้ผลิตสินค้าเทคโนโลยีสูงและผู้ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรม โดยเชื่อว่าโครงการ ‘Enjoy Science Careers: สนุกกับอาชีพวิทย์’ จะมีส่วนช่วยให้เราสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้ เพราะการพัฒนากำลังคนในสาขาสะเต็มนั้นจะต้องวางรากฐานตั้งแต่วัยเด็กให้พวกเขาเห็นว่าอาชีพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีความสนุกน่าสนใจ จนเกิดแรงบันดาลใจที่จะประกอบอาชีพในสาขานี้ต่อไปในอนาคต”

กรรณิการ์ วงศ์ทองศิริ รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เปิดเผยว่า “ความต้องการบุคลากรที่มีความรู้และทักษะด้านสะเต็มมีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเป็นพื้นฐานสำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศในอนาคต อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยโครงการนี้ได้คัดเลือก 10 อาชีพที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต และเป็นที่ต้องการของสังคมไทย ประกอบด้วย 1. นักธรณีวิทยาปิโตรเลียม 2. นักคิดค้นยา 3. นักวิทยาศาสตร์การอาหาร 4. วิศวกรชีวการแพทย์ 5. นักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง 6. นักนิติวิทยาศาสตร์ 7. นักปรับปรุงพันธุ์พืช 8. นักออกแบบผลิตภัณฑ์ 9. นักพัฒนาซอฟต์แวร์ และ 10. นักออกแบบและสร้างภาพเคลื่อนไหว มาให้เยาวชนได้ทดลองสวมบทบาทเป็นผู้เชี่ยวชาญและได้สนุกกับการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือจริงในการประกอบอาชีพ ทั้งยังได้พบปะกับบุคคลต้นแบบที่จะมาแนะแนวเส้นทางสู่การประกอบ 10 อาชีพสะเต็ม เพื่อให้เยาวชนสามารถเดินไปถูกทางว่า หากอยากประกอบอาชีพนั้นๆ ในอนาคตจะต้องทำอย่างไรบ้าง”

Enjoy Science Career  11พรสุรีย์ กอนันทา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “โครงการ ‘Enjoy Science Careers: สนุกกับอาชีพวิทย์’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนส่งเสริมการศึกษาในสาขาสะเต็ม และส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก ใกล้ตัว เกิดแรงบันดาลใจและความสนใจที่จะศึกษาต่อและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มต่อไปในอนาคต ซึ่งแหล่งเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ สามารถทดลองสวมบทบาทอาชีพ และลงมือทดลองทำกิจกรรมนั้นเป็นที่นิยมในหลายประเทศ ซึ่งในประเทศไทยเองก็เริ่มมีกิจกรรมเช่นนี้ ให้เด็กๆ ได้ไปร่วมสนุกและเรียนรู้แบบ Edutainment แต่ยังจำกัดอยู่ที่กรุงเทพฯ และเป็นกิจกรรมที่ต้องเสียค่าเข้าชม เชฟรอนจึงเห็นว่า โครงการ ‘Enjoy Science Careers: สนุกกับอาชีพวิทย์’ ที่ริเริ่มโดยอพวช. นี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกิจกรรมดีๆ อันจะเป็นประโยชน์แก่เยาวชนทั้งในกรุงเทพฯ และในจังหวัดอื่นๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย”

สมชนะ กังวารจิตต์ บุคคลต้นแบบอาชีพนักออกแบบผลิตภัณฑ์ จากบริษัท Prompt Design และเจ้าของรางวัลจากเวทีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ระดับโลก ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ทำงานและแนะแนวทางให้แก่น้องๆ เยาวชนที่งานเปิดตัว กล่าวว่า “ในปัจจุบัน ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทวีความสำคัญกับอาชีพต่างๆ รวมถึงอาชีพนักออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยผมเองไม่เพียงนำความรู้ดังกล่าวมาใช้เปลี่ยนจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ให้ออกมาเป็นชิ้นงานจริง แต่ยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์อีกด้วย ผมจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ซึ่งเป็นการวางรากฐานความสนใจในการศึกษาและประกอบอาชีพในสาขาสะเต็มให้กับเยาวชนตั้งแต่อายุยังน้อย ตลอดจนทราบถึงแนวทางและการวางแผนการเรียนเพื่อมุ่งไปในอาชีพที่ตนสนใจได้ทันที”

Enjoy Science Career  12สเตซี่ เฉลิมชัยกิจ บุคคลต้นแบบอาชีพนักธรณีวิทยาปิโตรเลียม จากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ให้ความเห็นว่า “กว่าสเตซี่จะได้รู้จักกับอาชีพนักธรณีวิทยาปิโตรเลียมก็กำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว เพราะสมัยก่อนไม่ได้มีการแนะแนวอาชีพที่มากไปกว่า หมอ พยาบาล หรือครู โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงอาชีพที่ผู้หญิงทำได้ก็ยิ่งมีข้อจำกัดมากขึ้นด้วยค่านิยมในตอนนั้น อาชีพนักธรณีวิทยาปิโตรเลียมต้องใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในสาขาธรณีวิทยา และฟิสิกส์ในการวิเคราะห์ศักยภาพของแหล่งกักเก็บปิโตรเลียม คำนวณปริมาณสำรอง วางหลุมขุดเจาะ ในการค้นหาปิโตรเลียม ซึ่งในประเทศไทย ผู้หญิงที่ทำอาชีพนี้ยังมีอยู่น้อย ทั้งที่ผู้หญิงสามารถทำได้ไม่ต่างกับผู้ชาย ซึ่งโครงการนี้ก็จะช่วยให้เยาวชนได้ทำความรู้จักกับอาชีพต่างๆ ในสาขาสะเต็ม ที่พวกเขาอาจจะไม่ทราบมาก่อนว่ามีอยู่ด้วยซ้ำ และเห็นภาพว่าการเรียนในสาขาสะเต็มมีประโยชน์อย่างไร และได้เห็นว่าการประกอบอาชีพในสาขานี้ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเพศ”

ดร. พรธิดา เรียงจนะพาธี บุคคลต้นแบบอาชีพนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ด้วยความที่ตัวเองชอบในเรื่องของความสวยความงาม ระหว่างที่เรียนในระดับปริญญาตรีสาขาวิทยาศาสตร์เคมี ก็เกิดความสนใจอยากจะทำเครื่องสำอางที่สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองได้ เลยเรียนต่อในด้านที่เกี่ยวข้องกับวิชาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเพื่อเติมเต็มความฝัน ซึ่งมองว่านักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางเป็นอาชีพที่กำลังมาแรง เพราะเครื่องสำอางกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ทุกเพศทุกวัยในการดูแลสุขภาพและความสวยงาม ความต้องการนักวิทยาศาสตร์เครื่องสำอางจึงมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลาย และแตกต่างกันไปอย่างไม่รู้จบ”

Comments

comments

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *